top of page

สัปดาห์ที่ 19 ของการตั้งครรภ์ : 19 weeks pregnancy การเดินทางของคุณแม่สัปดาห์ต่อสัปดาห์

เกือบจะครึ่งทางของการเดินทางในช่วงตั้งครรภ์แล้วนะคะ ก่อนหน้านี้คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกถึงลูกน้อยในท้อง แต่สัปดาห์นี้ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการดิ้นของลูก และต่อจากนี้จะเริ่มผูกพันธ์กับลูกน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ สัปดาห์นี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปติดตามกันนะคะคุณแม่



Highlight

  • สัปดาห์นี้ลูกเริ่มสร้าง Brown fat ที่จะช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย

  • ลูกได้เริ่มสร้างแผ่นขาวๆ เคลือบตัว เพื่อป้องกันผิวจากน้ำคล่ำ ที่เราเรียกว่า vernix caseosa

  • ปอดของลุกได้พัฒนามากขึ้น หลอดลม ก็ได้เริ่มพัฒนามากขึ้น

  • กล้ามเนื้อ และกระดูกเริ่มแข็งแรง เลยขยับมากขึ้น คุณแม่จึงอาจจะเริ่มรู้สึกถึงลูกดิ้นได้แล้ว


สัปดาห์นี้ลูกเป็นอย่างไร?


สัปดาห์นี้ลูกมีขนานเท่าผลมะม่วงค่ะ ขนาดยาวประมาณ 7 นิ้ว สัปดาห์นี้กระดูก กล้ามเนื้อของลูกแข็งแรงมากขึ้น เค้าจะเริ่มขยับตัวบ่อย ถีบขาเก่ง ทำให้คุณแม่หลายๆ ท่าน อาจรู้สึกถึงลูกดิ้นบ้างแล้วนะคะ


ชั้นไขมันใต้ผิวของลูก เริ่มมีการสร้าง Brown Fat ซึ่งเป็นไขมันที่จะช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย เป็นไขมันดีที่ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน นอกจากนี้ผิวชั้นนอกของลูกได้สร้างแผ่น vax เคลือบเพื่อป้องกันผิวลูกน้อย จากการสัมผัสน้ำคล่ำเป็นเวลานาน เราจะเรียกว่า vernix caseosa ถ้าไม่มี Vernix เคลือบผิวจะทำให้ผิวของลูกดูเหี่ยวๆ ได้ และ Vernix จะค่อยๆ ลดลงในช่วงใกล้คลอดค่ะ


อวัยวะที่บ่งบอกเพศของลูกได้พัฒนาจนเกือบจะสมบูรณ์แล้ว และในการฝากท้องในสัปดาห์หน้า คุณหมออาจจะสามารถบอกเพศของลูกคุณแม่ได้ จากอัลตร้าซาวด์แล้วค่ะ


อาการของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 19


สัปดาห์ที่ 19 แล้ว คุณแม่อาจจะเริ่มชินกับอาการต่างๆ ที่พบได้เรื่อยๆ ตลอดการตั้งครรภ์ ในสัปดาห์นี้อาการที่อาจพบกับคุณแม่ได้คือ


  • รู้สึกถึงลูกดิ้น การรับรู้ถึงลูกดิ้น ขึ้นกับแต่ละบุคคลรวมถึงขนาดหน้าท้องค่ะ ซึ่งสามารถรู้สึกได้ตั้งแต่ 16-22 สัปดาห์เลย ความรู้สึกถึงลูกดิ้นในครั้งแรกอาจเป็นความรู้สึกเหมือนมีผีเสื้อบินในท้อง หรือเหมือนมีอะไรหมุนๆ ในท้องมากกว่าความรู้สึกที่ลูกดิ้นจริงๆ ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น

  • เวียนศีรษะ หน้ามืดได้ง่าย เนื่องจากมดลูกที่ขยายมากขึ้น อาจไปกดทับการไหลเวียนเลือดกลับจากขา ไปสู่หัวใจ ทำให้ถ้าคุณแม่ ลุกนั่งเร็วๆ อาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ง่าย

  • ปวดตรงอุ้งเชิงกราน หรือ Round Ligament Pain จากการที่มดลูกขยาย ทำให้มีการยืดของ Round ligament อาจทำให้รู้สึกเจ็บแปล๊บๆ ได้


Tip สำหรับสัปดาห์นี้


  • ลุกนั่งหรือเปลี่ยนท่าช้าๆ ป้องกันอาการหน้ามืด

  • ทานอาหารที่เป็น Superfood เช่น Flaxseed Chia seed salmon

  • ยืดร่างกายบ่อยๆ เพื่อลดอาการกดเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดต่างๆ

  • ตอนนอนแนะนำนอนตะแคงซ้าย เพื่อลดการกดทับของเส้นเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ

  • ทาครีมบำรุงหน้าท้อง และนวดขาก่อนนอนเพื่อความผ่อนคลาย


ใกล้สิ้นสุดเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์แล้วนะคะ สัปดาห์ที่ 20 จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ


ขอให้คุณแม่สุขภาพแข็งแรงนะคะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)








ดู 3 ครั้ง0 ความคิดเห็น

留言


bottom of page