top of page

BPA ภัยเงียบ ที่อาจต่อผลต่อภาวะมีบุตรยากของคุณ (BPA may harm your fertility)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

BPA หรือ Bisphenol A คือสารเคมีชนิดหนึ่งที่ใช้แพร่หลายในการผลิตพลาสติกต่างๆ ทำให้พลาสติกมีความแข็งแรง และยืดหยุ่นได้ดี ในชีวิตประจำวันเราต้องสัมผัสกับสาร BPA นี้อยู่ตลอด แต่คุณรู้หรือไม่ว่า BPA นี้ เป็นภัยเงียบ ที่ส่งผลโดยตรงต่อทั้งเซลล์ไข่ สเปิร์ม รวมถึงการพัฒนาของสมองของทารก ตั้งแต่อยู่ในครรภ์เลยทีเดียว แล้ว BPA มีผลต่อร่างกายของเราอย่างไรบ้าง? วันนี้ไปติดตามข้อมูลได้เลยค่ะ



BPA คืออะไร? (What is BPA?)


BPA ย่อมาจาก Bisphenol A เป็นสารเคมีประกอบหนึ่งในกลุ่มพลาสติก และ resins ซึ่งมีการใช้แพร่หลายในผลิตภัณฑ์หลายชนิด BPA จะพบผสมอยู่ใน Polycarbonate plastic ซึ่งให้ผลิตพวก ขวดน้ำพลาสติก กล่องพลาสติก หรือขวดพลาสติกบรรจุภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ BPA ยังผสมใน Epoxy resis ซึ่งเคลือบอยู่ในกระป๋องบรรจุอาหารแปรรูป นอกจากนี้ยังพบ BPA เคลือบอยู่ในใบเสร็จหลังจากซื้อของต่างๆอีกด้วย



โดยส่วนใหญ่เราจะได้รับสาร BPA จากการบริโภคในรูปแบบอาหาร หรือ น้ำดื่ม และจากการสัมผัส เช่นการสัมผัสสาร BPA บนใบเสร็จ โดยเฉพาะเมื่อผลิตภัณฑ์ที่มี BPA โดนความร้อน จะทำให้ BPA ปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภคมากขึ้น เช่น การอุ่นอาหารในกล่องพลาสติก ใส่น้ำร้อนในขวดพลาสติก เหล่านี้จะทำให้ร่างกายได้รับ BPA ในบริมาณที่มากขึ้นหลังการบริโภค


BPA กับผลต่อสุขภาพของคุณอย่างไร?


BPA มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Mimic estrogen) (1) ซึ่งเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนมีความสำคัญต่อทั้งเพศหญิงและชาย ด้วยความที่มันคล้าย Estrogen จึงสามารถไปจับกับ Estrogen receptor และส่งผลต่อการทำงานต่างๆของร่างกาย ทั้ง การเจริญเติบโตของเซลล์, การซ่อมแซมเซลล์, การเจริญเติบโตของทารก และ ระบบสืบพันธ์ นอกจากนี้ BPA ยังไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมน Testosterone และ รบกวนการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้เรียก BPA ว่า "Endocrine disruptor"


ในปี 2014 FDA ได้ออกมากล่าวถึงว่า การได้รับ BPA ปริมาณไม่มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยกับร่างกาย (2) อย่างไรก็ตามมีการศึกษาพบว่า แม้ปริมาณ BPA แค่เพียงเล็กน้อย (10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม) ก็อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ และการพัฒนาของเซลล์ไข่ (3)


BPA อาจส่งผลต่อภาวะมีบุตรยากในทั้งชายและหญิง


เนื่องจาก BPA เป็น Mimic estrogen ดังนั้นจึงอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ทั้งชายละหญิง

มีการศึกษาพบว่า หญิงที่มีประวัติแท้งบ่อยๆ มีระดับ BPA ในเลือดที่สูงกว่าคนที่ตั้งครรภ์ได้ปกติมากถึง 3 เท่า (4) นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาพบในหญิงที่เข้ากระบวนการ IVF พบว่า คนที่มีระดับ BPA ในเลือดสูง ส่งผลต่อการผลิตไข่ และโอกาสล้มเหลวในการทำมากขึ้น 2 เท่า (5) (6)

การศึกษาในกลุ่มคนที่ IVF ในชายที่มีระดับ BPA สูงพบว่าได้ตัวอ่อนคุณภาพแย่เพิ่มขึ้น 30-46% (7)

ทั้งยังมีการศึกษาในชายที่มีระดับ BPA สูง พบว่า เพิ่มโอกาส ลด sperm concentrate และ sperm count มากขึ้น 3-4 เท่า (8)

กล่าวโดยสรุปคือ BPA ส่งผลในทางลบต่อระบบสืบพันธ์ทั้งในหญิงและชาย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในปัจจุบัน


ทำอย่างไรถึงจะลดการสัมผัสกับ BPA ได้


หากต้องการลดผลเสียของ BPA ต่อร่างกาย เราก็ต้องลดการสัมผัส หรือ การรับสาร BPA ให้ได้มากที่สุด วิธีลดการสัมผัสต่อ BPA คือ

  1. เลี่ยงอาการกระป๋อง หรืออาหารที่บรรจุในพลาสติก เลือกทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่

  2. ดื่มน้ำจากขวดแก้ว หลีกเลี่ยง การดื่มน้ำจากขวดพลาสติก อาจใช้วิธีกรองน้ำแล้วเก็บในขวดแก้ว หรือ สแตนเลส แทน

  3. งด อุ่นอาหารในไมโครเวฟในภาชนะที่เป็นพลาสติก อาจอุ่นในชามเซรามิก หรือ แก้วแทน

  4. หากสัมผัสพวกบิลต่างๆ ในล้างมือให้เร็วที่สุด เพื่อลดการดูดซึมของ BPA เข้าสู่ร่างกาย

  5. หลีกเลียงผลิตภัณฑ์ที่มี BPA หันมาใช้ แก้ว เซรามิก หรือ สแตนเลส ทดแทน

การหลีกเลี่ยง BPA นอกจากจะส่งผลดีตั้งแต่ ก่อนตั้งครรภ์ ยังส่งดีต่อการเติบโตของทารก และการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ ไปตลอดการตั้งครรภ์ด้วย ในครั้งหน้าจะมาลงรายละเอียดเรื่องของ BPA กับการพัฒนาสมองของทารกอีกครั้งนะคะ รอติดตามกันค่ะ








Tantawan Prasopa. MD (พญ.ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#BPAคือ #BPA #BPAต่อร่างกาย #ภาวะมีบุตรยาก #เทคนิคมีลูกง่าย #เตรียมตัวก่อนท้อง #เตรียมพร้อมตั้งครรภ์ #ความรู้คุณแม่มื่อใหม่ #อยากมีลูก #ความรู้สุขภาพ


bottom of page