top of page

การฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือ Hysterosalpingography (HSG) คืออะไร? ทำอย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

ในบทความก่อนหน้านี้หมอได้กล่าวถึง ภาวะท่อนำไข่ตีบหรือตัน ซึ่งการตรวจเพื่อดูว่าท่อนำไข่ตีบหรือตันหรือไม่นั้น ต้องตรวจด้วยวิธีการฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือ Hysterosalpingography หรือ HSG แต่เชื่อว่าหลายอาจกลัวการตรวจนี้ เพราะไม่เข้าใจวิธีการตรวจ วันนี้หมอจะมาเล่าเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายๆว่า การฉีดสีท่อนำไข่คืออะไร? ทำอย่างไร? ต้องเตรียมตัวก่อนไปทำอย่างไร? เดี๋ยวไปติดตามรายละเอียดกันได้เลยนะคะ



การฉีดสีดูท่อนำไข่คืออะไร? (What Is a Hysterosalpingography?)


การฉีดสีดูท่อนำไข่หรือ Hysterosalpingography (HSG) เป็นการ X-ray อย่างหนึ่ง เพื่อดูลักษณะของมดลูกและปีกมดลูก โดยการฉีสีที่สามารถมองเห็นได้จาก X-ray ผ่านทางช่องคลอด เพื่อให้เข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งตามปกติสีจะไหลผ่านโพรงมดลูก ไปที่ท่อนำไข่ทั้งสองข้างและออกมาในช่องท้อง จากภาพ X-ray แพทย์สามารถเห็นความผิดปกติในโพรงมดลูก เช่นติ่งเนื้องอก หรือลักษณะมดลูกผิดปกติ และสามารถเห็นการตีบตันของท่อนำไข่ รวมถึงรูปร่างของท่อนำไข่ด้วย


ใครควรทำการฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือ HSG?


คนที่เหมาะจะทำการฉีดสีดูท่อนำไข่คือ

  • คนที่มีปัญหามีบุตรยากที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ เช่น มดลูกปกติ สเปิร์มปกติ แต่ยังไม่มีลูก

  • สงสัยว่ามีการอุดตันของท่อนำไข่

  • มีปัญหาแท้งเป็นอาจิญ

  • มีประวัติผ่าตัดทางช่องท้องมาก่อน

  • ประเมินหลังทำหมัน

  • สงสัยความผิดปกติของตัวมดลูก


การเตรียมตัวสำหรับการทำ HSG


  • วันที่เหมาะสมในการทำ HSG คือประมาณ 7-12 วัน หลังวันแรกที่มีประจำเดือน ซึ่งก็คือหลังหมดประจำเดือนประมาณ 2-7 วัน แต่ยังไม่ถึงช่วงวันไข่ใกล้ตก ที่สำคัญคือต้องมั่นใจว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์ ถ้ามีความสงสัยว่ามีการตั้งครรภ์ ต้องมีการตรวจเพื่อยืนยันก่อนเสมอ

  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่ประจำเดือนหมด ไปจนถึงวันที่ทำ HSG

  • เนื่องจากการฉีดสี อาจทำให้เกิดอาการหน่วงบริเวณช่องท้องได้ แพทย์อาจให้ทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID มาทานล่วงหน้าก่อนทำ HSG 1 ชั่วโมง

  • แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังทำ HSG

  • ไม่ควรมีโลหะติดตัว เนื่องจากการตรวจเป็นการใช้ X-ray ในการทำ

  • หากเคยมีประวัติ แพ้สารทึบรังสี หรือ Contrast media หรืออาหารทะเล ควรแจ้งแพทย์ก่อนเสมอ

ข้อห้ามในการทำ

  • ตั้งครรภ์

  • มีประวัติแพ้สารทึบรังสี

  • ติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน

ขั้นตอนการตรวจ (What happens during the test?)


  • การทำ HSG คล้ายการตรวจภายใน คือ คุณจะอยู่บนเตียง ยกขาหยั่ง แพทย์จะใส่ Speculum ทางช่องคลอด เพื่อเปิดให้เห็นปากมดลูกได้ดีขึ้น

  • แพทย์จะทำความสะอาดบริเวณปากมดลูก จากนั้นจะสอดท่อเล็กๆ (Cannula) เข้าไปทางปากมดลูก แพทย์จะเอา Speculum ออก จากนั้นจะมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในมดลูกผ่านท่อเล็กๆนี้ ซึ่งสารทึบรังสีนี้จะไหลไปในมดลูก และผ่านออกไปทางท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง แล้วไหลเข้าไปในช่องท้อง

  • จากนั้น คุณจะเข้าไปอยู่ในเครื่อง X-ray เพื่อทำการ X-ray ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนท่าระหว่างการทำ

  • เมื่อเสร็จสิ้นการทำ HSG แพทย์จะนำท่อเล็กๆออก

  • หลังเสร็จสิ้นการทำ แพทย์อาจให้ยาแก้ปวด และยาเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเหมาะสม

ซึ่งระยะเวลาในการทำเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ 10-15 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นแพทย์จะทำการอธิบายผลการตรวจให้ฟังอีกครั้ง


ผลข้างเคียง

  • เลือดออกกะปริดกะปรอย มักหยุดเองใน 24 ชั่วโมง

  • การติดเชื้อ จะมีไข้และตกขาวมีกลิ่นเหม็น 2-4 วันหลังตรวจแต่โอกาสเกิดน้อยเนื่องจากเครื่องมือทุกชิ้นผ่านการฆ่าเชื้อ

  • อาการปวด มักพบในคนไข้ที่มีท่อนำไข่ตัน มักปวดไม่มากและเป็นไม่นาน

  • การแพ้สารทึบรังสี ซึ่งพบน้อยมาก

แพทย์จะดูอะไรบ้าง

  1. ดูโพนงมดลูก ว่ามีลักษณะปกติหรือไม่ หรือมีก้อน ติ่งเนื้อที่ผิดปกติ หรือผนังมดลูกมีลักษณะไม่เรียบหรือไม่

  2. ดูท่อนำไข่ทั้งสองข้าง โดยดูว่าลักษณะของสารทึบรังสี ว่าดูปกติ หรือบางข้างมีการโป่งออกผิดปกติหรือไม่

  3. ดูว่าสีสามารถผ่านท่อนำไข่ ออกมาทางช่องท้องได้หรือไม่ ถ้าสีไม่ออกมาในช่องท้อง อาจมีการตีบตันของท่อนำไข่ในด้านนั้น




ซึ่งแพทย์จะทำการแปลผลและวางแผนการดูแลรักษา "ภาวะท่อนำไข่ตีบตัน" ต่อไป หากคุณมีข้อสงสัยอะไร แนะนำว่าควรถามเพื่อความเข้าใจ และจะได้วางแผนการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ


จะเห็นว่า การทำการฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครกังวลกันค่ะ แต่ที่สำคัญการทำการตรวจ อาจทำให้เราสามารถวางแผนการมีลูกของเราได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย หมอหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ แล้วมาติดตามกันใหม่ ในบทความหน้าค่ะ


ผลิตภัณฑ์แนะนำ : https://www.drnoithefamily.com/products






เขียนโดย

Tantawan Prasop. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#ฉีดสีท่อนำไข่ #ท่อนำไข่ตัน #ท่อนำไข่ตีบ #ตรวจท่อนำไข่ #ภาวะมีบุตรยาก

ดู 6,747 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page