เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้วนะคะ คุณพ่อ คุณแม่หลายท่าน คนเริ่มปรับตัวเข้ากับลูกน้อยได้ไม่มากก็น้อย อาจเริ่มเรียนรู้ลักษณะการกิน การนอน หรือเรียนรู้เสียงร้องของลูกน้อยได้บ้าง แต่สัปดาห์ที่ 2 นี้ก็มีหลายอย่างให้เรียนรู้เหมือนเคย พัฒนาการของลูกน้อยในสัปดาห์ที่ 2 มีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
สิ่งสำคัญในสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้คุณแม่หลายท่านอาจมีปัญหาเรื่องน้ำนม (กรณีให้นมแม่) เช่น น้ำนมไม่ไหล คัดตึงเต้านม หรือ หัวนมแตก คุณแม่อาจปรึกษาคลินิคนมแม่ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาค่ะ
เรียนรู้รูปแบบการกินของลูก สัปดาห์นี้ลูกอาจจะกินอย่างต่อเนื่องคุณแม่อาจเหนื่อยหน่อยนะคะ
หากคุณแม่มีปัญหาหลังคลอด เช่น เลือดออกผิดปกติ มีไข้ หรือ มีภาวะเครียดหลังคลอด ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
การเติบโตของลูกในสัปดาห์แรก
ประมาณวันที่ 10 หลังคลอด น้ำหนักของลูกมักจะเท่ากับน้ำหนักแรกคลอด หรืออาจจะมากกว่า สมองอาจจะยังไม่เรียนรู้รูปแบบการนอนหรือการกินชัดเจน แต่ลูกน้อยจะเริ่มเติบโตชัดเจนขึ้นกว่าสัปดาห์แรก โดยน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 20-30 กรัมต่อวัน ตัวจะค่อยๆ เริ่มยาวขึ้น โดยความยาวตัวอาจเพิ่ม 4.5-5 เซนติเมตรในช่วงอายุที่ครบ 1 เดือน
พัฒนาการในช่วงสัปดาห์ที่ 2
พัฒนาการของลูกน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ 2 นี้คือ
ร้องไห้เมื่อไม่สบายตัว, หิว, หรือ เจ็บปวด
ได้ยินเสียง ตอบสนองต่อเสียงดังๆ
ยกคอได้เล็กน้อย
สามารถมองได้ในระยะการให้นมแม่
ในช่วงนี้แม่ๆ ควรสังเกตการได้ยินของลูก โดยหากลูกไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง หรือไม่ตื่นเมื่อปลุกมากินนม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม
การดูแลลูกในช่วงสัปดาห์ที่สอง
การทำความสะอาดร่างกาย ในสัปดาห์นี้ เด็กหลายคนจะเริ่มเห็นว่าสายสะดือได้หลุดไปแล้ว ทำให้คุณ อาจเพิ่มพาเจ้าตัวเล็กอาบน้ำได้แล้วค่ะ ซึ่งช่วงแรกเค้าอาบไม่ชอบมากนัก แต่ซักพักตัวเล็กก็จะเริ่มชิน และชื่นชอบการอาบน้ำมากขึ้นค่ะ โดยคุณแม่อาจอาบน้ำวันละ 1 ครั้ง หรือวันเว้นวันก็ได้เช่นกัน
การขับถ่าย ตอนนี้อุจจาระของลูกจะเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นเม็ดๆ โดยทั่วไปลูกน้อยจะขับถ่ายอุจจาระ 2 ครั้งขึ้นไปต่อวัน และปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน โดยหากเด็กคนไหนใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปอาจนับจำนวนปัสสาวะได้ยาก แต่สามารถกะปริมาณได้จากจำนวนครั้งจากการเปลี่ยนผ้าผ้า หรือสังเกตการเปลี่ยนแปลงของแถบสีบริเวณผ้าอ้อมค่ะ
การกิน ในช่วงสัปดาห์นี้การให้นมเหมือนเป็นงานหลักของแม่เลยค่ะ ลูกน้อยอาจตื่นมากินทุก 2-3 ชั่วโมง โดยอาจใช้เวลา 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อการกิน 1 ครั้ง โดยการนับช่วงการกินของลูกตั้งแต่เริ่มกินนม เช่น ลูกกินนมตอน 6 โมงเช้า กินไปเรื่อยๆ 1 ชั่วโมงคือ 7 โมงเช้า ลูกอาจจะตื่นมาหิวอีกทีตอน 8 โมงเช้าก็ได้ค่ะ แม่ๆ อาจเหนื่อยหน่อยนะคะ
การนอน เด็กในวัยนี้ยังนอนเป็นหลัก โดยอาจนอน 16-18 ชั่วโมง ซึ่งชั่วโมงของการนอนจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้น ดังนั้นในวัยนี้ จึงยังไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่ได้ตื่นมาเล่นค่ะ สามารถปล่อยให้เค้านอนได้เลย เด็กบางคนอาจนอนยาวขึ้นเป็นครั้งละ 4-5 ชั่วโมง ถ้ายังมีสัญญาณว่าลูกได้รับนมเพียงพอคือฉี่มากกว่า 6 ครั้ง ถ่ายมากกว่า 2 ครั้ง อาจไม่จำเป็นต้องปลุกลูกมากินนมก็ได้ค่ะ
การไปพบแพทย์ ในสัปดาห์นี้ลูกจะยังไม่มีนัดพบแพทย์ค่ะ ซึ่งแพทย์จะนัดอีกครั้งที่อายุ 1 เดือน เพื่อติดตามการเติบโตและพัฒนาการค่ะ
การดูแลความปลอดภัย สิ่งสำคัญคือไม่ควรปล่อยลูกนอนคนเดียว เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุตกลงมาได้ และควรระวังการออกไปข้างนอกหรือการสัมผัสผู้คน เนื่องจากลูกน้อยยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ การสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ อาจทำให้ลูกน้อยติดเชื้อได้ง่าย
เกี่ยวกับคุณแม่
ในช่วงสัปดาห์นี้ปัญหาที่คุณแม่อาจจะพบบ่อยๆ คือปัญหาเกี่ยวกับนมแม่ เช่น
น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ
ลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้องทำให้เจ็บหัวนม ดูดไม่ดี
เต้านมคัดตึง
หัวนมแตก
ท่อน้ำนมอุดตัน
นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับคุณแม่ ในการให้นมลูก ซึ่งหมอหน่อยจะมีบทความเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้อีกครั้ง แต่หากคุณแม่มีปัญหาเหล่านี้ ทางแก้ที่ดีคือ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่นคลินิคนมแม่ ที่จะช่วยชี้แนะแนวทาง และช่วยคุณแม่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ค่ะ
ในช่วงสัปดาห์นี้แม่ๆ ควรสังเกตอาการหลังคลอด เช่น แผลผ่าตัด การมีเลือกออกทางช่องคลอด หรืออาการซึมเศร้าหลังคลอด หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาเพิ่มเติม
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD )
Comentarios