top of page

ประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อย ควรเริ่มเล่นเมื่อไหร่ดี? (Benefits of Peek-A-Boo)

อัปเดตเมื่อ 28 พ.ค. 2565

การเล่นจ๊ะเอ๋ เป็นกิจกรรมที่สามารถเล่นกับลูกได้ตลอดเวลา เป็นการเล่นที่ไม่ต้องการอุปกรณ์ ต้องการแค่คุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ดูเหมือนการเล่นจ๊ะเอ๋จะเป็นกิจกรรมง่ายๆ แต่ทราบหรือไม่ว่า การเล่นจ๊ะเอ๋ เป็นการเล่นที่สามารถกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไปดูกันว่า ประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋มีอะไรบ้าง? แล้วคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มเล่นเมื่อไหร่ดี


การเล่นจ๊ะเอ๋คืออะไร?


การเล่นจ๊ะเอ๋ เป็นลักษณะการเล่นแบบเดียวกับการเล่นซ่อนแอบ คุณพ่อคุณแม่ อาจปิดหน้าด้วยมือ หรือผ้า รอสักพัก แล้วเปิดหน้าพูดว่า จ๊ะเอ๋ การเล่นแบบนี้ จะกระตุ้นพัฒนาการของลูกในหลายด้าน เป็นการสอนให้ลูก รู้ว่า สิ่งของมีอยู่จริงแม้ว่าจะมองไม่เห็นก็ตาม (object permanence) ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกว่า แม้ว่าจะมองไม่เห็นพ่อแม่ แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้หายไปไหน ดังนั้นเวลาที่พ่อแม่เดินออกจากห้องหรือในระยะที่ลูกมองไม่เห็น ลูกจะไม่ร้อง เพราะรู้ว่า ไม่นานพ่อแม่จะกลับมาค่ะ


ประโยชน์ของการเล่นจ๊ะเอ๋

  • พัฒนาเรื่องของ Cognitive Function : ลูกจะเรียนรู้ว่าสิ่งของไม่ได้หายไป (object permanence) ลูกจะเรียนรู้ว่า ยังมีพ่อแม่อยู่แม้ว่าจะมองไม่เห็นก็ตาม ทำให้ต่อไปเวลาที่พ่อแม่เดินไปไหนมาไหน ลูกจะไม่ร้องตามเพราะรู้ว่าอีกไม่นานพ่อแม่จะกลับมา

  • พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ Motor development : ฝึกการนั่ง การใช้มือ

  • พัฒนาการด้านภาษา : เวลาเล่น จะเหมือนเป็นการสนทนากับลูกเช่น แม่อยู่ไหนน้า อยู่นี่เอง หรือ จ๊ะเอ๋ ต่อไปลูกอาจจะเริ่มพูดตาม เช่น เอ๋ๆ จ๊ะๆ หรือ pooo เป็นต้น

  • พัฒนาการด้านสังคม : ลูกจะเรียนรู้การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รู้จักการเป็นผู้เล่น (take turn) ทำให้ต่อไปการเข้าสังคมจะง่ายขึ้น

  • พัฒนาการด้านอารมณ์ : ลูกจะรู้ตื่นเต้น แปลกใจ สนุก และมีความสุข มักเป็นกิจกรรมที่สร้างเสียงหัวเราะให้ลูกๆ ได้เสมอ

เมื่อไหร่ควรเล่นจ๊ะเอ๋


จริงๆ แล้ว สามารถเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ลูกของเราจะเริ่มรู้จักคน สิ่งของประมาณ 3 เดือน ช่วง 3 เดือนขึ้นไป จะสามารถเล่นจ๊ะเอ๋ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลูกจะเริ่มเข้าการเล่นมากขึ้นที่ประมาณ 8 เดือน อาจเล่นโดยการปิดสิ่งของ แล้วให้ลูกหาได้ ประมาณ 9-12 เดือน ลูกจะสามารถเปลี่ยนเป็นผู้เล่นจ๊ะเอ๋กับเราได้ และเมื่อลูกเริ่มโต ก็สามารถเปลี่ยนเป็นการเล่นซ่อนหาได้ ซึ่งมีหลักการเดียวกันค่ะ


จะเห็นว่า การเล่นง่ายๆ นี้ มีประโยชน์ต่อลูกน้อยมากๆ เลยนะคะ มาเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อยกันค่ะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)






ดู 691 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page