top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คืออะไร? มีผลต่อการมีลูกอย่างไร? (Endometriosis)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis หรือหลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า Chocolate cyst (รอยโรคบริเวณรังไข่) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ แล้วภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร? อาการและการรักษาเป็นแบบไหน? แล้วมีผลต่อการมีลูกหรือไม่? วันนี้ไปติดตามเนื้อหาที่น่าสนใจกันค่ะ


เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่คืออะไร?


หมายถึง เยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่นอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก หรืออาจเล็ดลอดเข้าไปในช่องท้องจนไปเจริญเติบโตอยู่ตามอวัยวะต่างๆในอุ้งชิงกราน เช่น เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ และบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระบังลม ปอด และ ช่องเยื่อหุ้มปอด


เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่นี้ ถือเป็นปฏิกิริยาการอักเสบที่ขึ้นกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen-dependent, benign, inflammatory disease) เมื่อไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ก็จะยังคงทำหน้าที่เช่นเดิม คือ สร้างประจำเดือน จึงทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ถ้าอยู่ในรังไข่เราจะเรียกกันอีกชื่อว่า Chocolate cyst ซึ่ง Endometriosis เป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่างๆที่พบได้ในผู้ป่วยโรคนี้ เช่น ปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง มีบุตรยาก


เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย(benign) แต่เป็นโรคเรื้อรัง และต้องการ การวางแผนการรักษาอย่างเป็นระบบ โดยขึ้นกับ ความต้องการมีบุตร และ ความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ (1)


อุบัติการณ์และพยาธิกำเนิด


พบเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ได้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ทั่วไปประมาณ 7% และพบให้หญิงที่มีอาการปวดท้องน้อยและมีบุตรยากสูงถึง 30% โดยสาเหตุของการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่มีหลายทฤษฎี แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการไหลย้อนทางของ ประจำเดือนผ่านท่อนำไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆภายในช่องท้อง (Sampson's theory) ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เช่น

  • ไม่มีบุตร

  • มีประวัติได้รับเอสโตรเจนเป็นระยะเวลานาน

  • ประจำเดือนมาครั้งแรกตอนอายุน้อย

  • มีการอุดกั้นทางออกของประจำเดือน

  • ได้รับสาร DES (diethylstilbestrol) ขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

อาการของ Endometriosis

  • มีภาวะมีบุตรยาก (30%)

  • ปวดประจำเดือนเรื้อรังและเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ (Progressive dysmenorrhea) โดยเฉพาะการปวดประจำเดือนภายหลังจากที่ไม่เคยปวดมาก่อน

  • เจ็บในช่องคลอดลึกๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์ (Deep dysareunia)

  • คลำได้ก้อนในท้อง

  • ประมาณ 1 ใน 3 ของ Endometriosis ไม่มีอาการ

Endometriosis กับภาวะมีบุตรยาก


พบได้ร้อยละ 30-40 ในรายที่มีอาการรุนแรง (ระดับ 3-4) การมีบุตรยากเกินจากกลไกทางกายภาพ คือมีพังผืดในอุ้งเชิงกราน ทำให้กายวิภาคปกติของรังไข่และท่อนำไข่ถูกทำลาย ขัดขวางการเดินทางของไข่โดยตรง นอกจากนี้สารเคมีธรรมชาติที่สร้างโดย Endometriosis อาจรบกวนการเจริญของไข่ การเคลื่อนไหวของท่อนำไข่ การตกไข่ หรือการทำงานของคอร์ปัสลูเตียม

อย่างไรก็ตาม Endometriosis ไม่สัมพันธ์กับการแท้งเป็นอาจิณ และการรักษาโรคนี้ไม่ลดการแท้งเอง


การรักษา


การรักษาหลักๆ แบ่งเป้าหมายออกเป็น 3 อย่างคือ

  • ลดความเจ็บปวด

  • ลดการเกิดโรคที่มากขึ้น

  • แก้ไขภาวะมีบุตรยาก


โดยการรักษาเพื่อลดความเจ็บปวด และลดการเกิดโรคที่มากขึ้น สามารถรักษาแบบใช้ยาหรือแบบผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค


การรักษาโดยการใช้ยา

- ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (NSAIDS) ลดอาการปวดประจำเดือน

- Estrogen-Progestin contraceptive ช่วยลดการทำงานของรังไข่ และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อ

- Progestins ช่วยยับยั้งการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก

- Danazol ทำให้เกิดการยับยั้งการฝังตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก

- GnRH agonist ทำให้ estrogen ลดลง

โดยการรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแต่ละคน


การรักษาโดยการผ่าตัด

พิจารณาเมื่อ รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น มีข้อห้ามในการใช้ยา หรือต้องการชิ้นเนื้อมาตรวจ ซึ่งการผ่าตัดก็ต้องมาพิจารณาอีกว่าคนไข้ต้องการมีลูกหรือไม่ โดยการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆคือ


- การผ่าตัดเชิงอนุรักษ์(Conservative surgery) เช่น การจี้, การเลาะพังผืดออก หรือการเลาะก้อนบริเวณรังไข่ออก มักทำให้คนที่ยังต้องการมีบุตร

- การผ่าตัดให้หายขาด (Definitive surgery) เหมาะในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ไม่ตอบสนองต่อยา และไม่ต้องการมีบุตรแล้ว การรักษาส่วนใหญ่จะนิยม ผ่าตัดมดลูก


การรักษาภาวะมีบุตรยาก

ขึ้นอยู่กับระยะ และความรุนแรงของโรค

  1. ระยะที่ 1 และ 2 แนะนำให้ติดตามการรักษาและเฝ้าสังเกตุอาการ วางแผนมีเพศสัมพันธ์ช่วงเวลาที่เหมาะสม หากอายุน้อยกว่า 35 ปี สามารถทดลองได้ 6 เดือน หากไม่สำเร็จอาจใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก ร่วมกับการทำ IUI ในคนที่มากกว่า 35 ปี อาจพิจารณาให้เทคโนโลยีต่างๆเร็วขึ้น เช่นทำ IUI, IVF หรือ ICSI ไปเลย

  2. ระยะที่ 3 และ 4 เนื่องจากความรุนแรงของโรคเป็นมากขึ้น จึงไม่นิยมให้ยากระตุ้นให้ไข่ตก มักจะแนะนำให้ข้ามไปใช้เทคโนโลยีเลย เช่น IVF หรือ ICSI

โดยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้ อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์เช่น ภาวะแท้ง การตั้งครรภ์นอกมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ หรือตกเลือดหลังคลอดได้ จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด


อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวและการดูแลสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมมีบุตรในคนที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ก็ไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป ดังนั้นสามารถดูแลสุขภาพให้แข็งแรงตามปกติได้เลยนะคะ จะมีเทคนิคการกินอาหารบางชนิดที่แนะนำพิเศษสำหรับคนที่มีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มาแนะนำให้เพื่อนๆเช่นกัน ยังไงก็รอติดตามได้ใหม่ในบทความหน้าได้ค่ะ


กล่าวโดยสรุปคือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis เป็นโรคที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาการแสดงส่วนใหญ่คือปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น แต่บางคนก็ไม่มีอาการแสดง และโรคนี้ มักส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ ดังนั้น ควรหาเวลาตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อการดูแล รักษาโรคนี้อย่างเหมาะสมค่ะ


อ้างอิง

ธีระ ทองสง.(2555).สูติศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่5.เชียงใหม่:ลักษมีรุ่ง.

บทความเรื่อง เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โดย พ.ญ.จงปีติ วุฒิสรรพ์


วิตามินบำรุง : https://www.drnoithefamily.com/products






Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#endometriosis #เนื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ #ภาวะมีบุตรยาก #สาเหตุภาวะมีบุตรยาก #chocolatecyst

Comments


bottom of page