ขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่ด้วยนะคะ ท้องแล้ว เย้ๆ ตอนนี้คุณแม่ทุกคนคงมีความสุขมากๆ เลย ในช่วงไตรมาสแรกนี้ ร่างกายของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตพอสมควร แล้วอาการต่างๆ มีอะไรบ้าง? และคุณแม่จะมีวิธีรับมือกับอาการเหล่านั้นอย่างไร? วันนี้ไปติดตามกันค่ะ
อาการทางร่างกาย
หน้าอกคัดตึง (Tender, swollen breasts) : หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัว ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ อาจทำให้หน้าอกขยายขึ้น รู้สึกคัดตึง หรือ ไวต่อความรู้สึก อาจรู้สึกอึดอัดได้ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังพ้นไตรมาสแรกนี้
คำแนะนำ: ใส่ชุดชั้นในที่สบาย ไม่คับหรือทำให้รู้สึกอึดอัดมากขึ้น
อาการคลื่นไส้ อาจมีอาเจียนร่วมด้วย (Nausea with or without vomiting) : อาการคลื่นไส้ หรือที่เราเรียกกันว่าอาการแพ้ท้อง (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอาการแพ้ท้อง) คุณแม่มักจะเริ่มมีอาหารเหล่านี้ ประมาณสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ และอาการจะดีขึ้น เมื่อพ้นไตรมาสที่ 1 ไปแล้วค่ะ
คำแนะนำ: อย่าปล่อยให้ท้องว่าง ทานมื้อเล็กๆ แต่บ่อยๆ หลีกเลี่ยงอาการมันหรืออาหารรสจัด
ปัสสาวะบ่อย (Increased urination) : จากการทำงานของฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ทำให้ปริมาณเลือดในร่างกายมากขึ้น เลือดไปผ่านไตมากขึ้น ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น ทำให้คุณแม่อาจมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นนั้นเองค่ะ
คำแนะนำ: วางแผนเรื่องการเดินทาง ให้สามารถหาห้องน้ำได้สะดวก
อาการอ่อนเพลีย (Fatigue) : ช่วงไตรมาสแรกนี้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนค่อนข้างจะทำงานเด่นชัด ฮอร์โมนนี้อาจทำให้คุณแม่รู้อ่อนเพลีย ง่วงนอนได้
คำแนะนำ: ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ได้กลิ่นไวขึ้น (Sensitive to odors) : ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน กับเอสโตรเจสที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกนี้ อาจทำให้คุณแม่ ไวต่อการรับกลิ่นมากขึ้น อาจรู้สึกเหม็นบางกลิ่นที่เคยชอบ เช่น กลิ่นโลชั่น กลิ่นน้ำหอม กลิ่นกาแฟ เป็นต้น
คำแนะนำ: หลีกเลี่ยงกลิ่นที่ทำให้รู้สึกเวียนหัว หรือคลื่นไส้อาเจียน
อยากอาหาร (Food cravings) : ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่อยากอาหารบางอย่างที่ไม่เคยชอบ โดยเชื่อว่า อาจมาจากร่างกายขาดสารอาหารนั้นๆ อยู่ก็ได้ เช่น คุณแม่ที่ไม่เคยกินเนื้อ อาจอยากกินเนื้อ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ร่างกายขาดธาตุเหล็ก หรือวิตามินบี ทำให้ต้องการกินอาหารกลุ่มนี้มากขึ้น
คำแนะนำ: เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปรุงสุกก่อนทานเสมอ
กรดไหลย้อน (Heartburn) : ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการคลายที่หูรูดหลอดอาหาร ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย และมักจะเป็นมากขึ้นในไตรมาสหลังๆ เนื่องจากมดลูกขยายตัวมากขึ้น พื้นที่กระเพาะอาหารลดลง
คำแนะนำ: กินมื้อน้อยๆ แต่บ่อยๆ เลี่ยงอาหารรสจัด หรือรสเปรี้ยวมากๆ
อาการท้องผูก (Constipation) : ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้ลำไส้ทำงานช้าลง เกิดอาการท้องผู้ได้ง่าย นอกจากนี้ ธาตุเหล็ก หรือแคลเซียมที่ทานเสริม บำรุงช่วงท้อง ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้มากขึ้น
คำแนะนำ: ดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ผลทางจิตใจ
ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะมีหลายภาวะอารมณ์ ทั้งตื่นเต้น ดีใจ กังวล กลัว เครียด ทั้งสุขภาพของตัวคุณแม่เอง หรือ สุขภาพของลูก รวมถึงเรื่องงาน ที่อาการในช่วงแรกอาจส่งผลให้การทำงานของคุณไม่มีประสิทธิภาพ หรือความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอารมณ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อสภาพจิดใจของคุณแม่ได้
คำแนะนำ: ปรึกษา พูดคุย ระบายความรู้สึกกับคนรัก หรือคนในครอบครัว หาวิธีที่จะทำให้คุณรู้สึกสบายใจมากขึ้น เช่น ดูหนัง ฟังเพลง พักผ่อน แต่หากรู้สึกว่าความเครียดมีมาก ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องค่ะ
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้ เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องปรับตัวหลายอย่าง ยังไงหมอหน่อยขอเป็นกำลังใจให้แม่ๆ ทุกคนนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ จาก เพจ หมอหน่อย Dr. Noi the family (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments