กรดโฟลิค หรือ Folic acid คือ วิตามินบี 9 เป็น วิตามินพื้นฐานตัวแรกที่แนะนำให้หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ทุกคน ทานก่อนท้องอย่างน้อย 1-3 เดือน เพื่อป้องกันภาวะผิดปกติของทารก เช่น หลอดประสาทไม่ปิด หรือ Neura tube defect หรือ ภาวะไม่มีกระโหลกศีรษะ ซึ่งเป็นความผิดปกติแบบร้ายแรง ถ้าใครเริ่มทานไปแล้วก็ถือเป็นเรื่องดีนะคะ แต่!! ยังมีอีกหลายเรื่องที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับกรดโฟลิคที่คุณกินอยู่ มันคืออะไรกันแน่? แล้วควรกินเท่าไหร่ถึงจะปลอดภัย? แล้วมันมีความสำคัญกับไข่อย่างไร? วันนี้เราจะไปเรียนรู้เกี่ยวกับ Folic acid กันค่ะ
Folate กับ Folic acid ต่างกันอย่างไร?
โฟเลต ก็คิอวิตามินบี 9 ที่พบในแหล่งอาหารธรรมชาติ พบได้บ่อย ในผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง หรือผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม กีวี ร่างกายสามารถดูดซึมโฟเลตในอาหารไปใช้ได้ประมาณ 50%
กรดโฟลิก หรือ Folic acid ก็คือวิตามินบี 9 ที่เกิดจากการที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นมาโดยผสมลงไปในอาหารบางชนิด หรือทำเป็นวิตามิน Folic acid ที่สังเคราะห์ผสมในอาหาร ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ 75% ส่วน Folic acid ในวิตามินบำรุงร่างกายจะสามารถดูดซึมไปใช้ได้ 100%
ตั้งแต่ปี 1991 การศึกษาที่ใหญ่มากในอังกฤษพบว่า การกิน Folic acid ก่อนการตั้งครรภ์ ช่วยลดการเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทของทารก ป้องกันการเกิดหลอดประสาทไม่ปิด หรือ Neural tube
defect ได้ถึง 70-80% หลังจากนั้นไม่นาน ทาง FDA ของอเมริกาก็ส่งเสริมให้มีการผสม folic acid ไปในอาหารที่คนอเมริกาชอบกิน เช่น ซีเรียล ขนมปัง เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนอเมริกัน ได้รับ folic acid
อย่างเพียงพอมากขึ้น
CDC (Centers for Disease Control) แนะนำว่าหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนที่วางแผนมีลูก ควรกินวิตามินที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิกไม่น้อยกว่า 400 ไมโคกรัมต่อวัน หรือบางคำแนะนำ ให้กินประมาณ 800 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันความผิดปกติของทารก รวมถึงควรเพิ่มอาหารที่มีโฟเลตสูงร่วมด้วย
โฟเลตกับการบำรุงไข่
การศึกษาใน Nurses' health study พบว่า คนที่กิน Folic acid 700-800 ไมโครกรัมต่อวัน มีลูกง่ายกว่าคนที่กิน Folic acid น้อยกว่า 300 ไมโคกรัมต่อวัน ถึง 50% และลดปัญหาภาวะมีบุตรยากจากการที่ไข่ไม่ตกได้ถึง 65%
Folic acid ยังมีความสำคัญในการสร้าง DNA และ RNA มีส่วนสำคัญในการสร้างกรดอะมิโนที่จำเป็นต่างๆ และมีความสำคัญในการแบ่งเซลล์ไข่ การศึกษาพบว่าโฟเลตช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการทำ IVF มากขึ้นถึง 2 เท่า
Folic acid กับ methylfolate
เนื่องจาก Folic acid เป็นสารสังเคราะห์ ร่างกายต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบของ Folic acid ไปเป็น Methyfolate หรือ active form ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เลย โดยต้องอาศัย เอนไซม์ MTHFR (Methylene Tetrahydrofolate Reductase) เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้ ซึ่งพบว่าบางคนที่มีปัญหาขาดเอนไซม์ MTHFR ทำให้ได้รับ Methyfolate ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ปัจจุบันจึงมีการผลิต Folate ในรูปแบบ Methyfolate ซึ่งเป็น active from ที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เต็มความสามารถ แต่เนื่องจาก Folate รูปแบบนี้มีราคาที่สูงกว่า Folic acid โดยทั่วไป จึงอาจแนะนำให้พิจารณาเลือกทานเป็นรูปแบบ Methyfolate ในคนที่มีภาวะแท้ง เป็นอาจิณ มีบุตรยาก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ กินยากันชัก กินยาต้านการซึมเศร้า กินยาคุมกำเนิด ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะขาด MTHFR ทำให้ไม่สามารถนำ folate ไปใช้ได้อย่างเต็มที่ หรือใครที่มีความสามารถในการซื้อ การเลือก Methyfolate จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคุณค่ะ
วิตามิน Prenatal ที่มี Folate 100%
กินโฟลิกแบบเดี่ยว หรือ กินแบบวิตามินรวมดี?
อย่างที่หมอจะพยายามบอกเสมอคือ ร่างกายของเราต้องการวิตามินหลายชนิด ทั้ง ไอโอดีน สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินดี และวิตามินบีอื่นๆ การกินวิตามินแบบรวม หรือ prenatal vitamins จะช่วยให้คุณได้รับสารอาหารต่างๆอย่างเพียงพอ และใน prenatal vitamins ก็มีส่วนประกอบของ Folic acid ที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ไม่ต้องกินกรดโฟลิคเพิ่มอีก
ควรกิน folic acid เท่าไหร่ ถึงจะปลอดภัย?
คนที่ไม่มีโรคประจำตัว แนะนำให้กิน Folic acid ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน เนื่องจาก มีการศึกษาในระยาวพบว่า การกิน Folic acid ที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี
การศีกษาพบว่าหากกิน Folic acid ต่อเนื่องมากกว่า 1 มิลลิกรัม (1,000 ไมโครกรัม) ในระยะยาวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม แม้ว่าการศึกษายังไม่ชี้ชัดนัก แต่แนะนำให้พึงระวังไว้ก่อน นอกจากนี้ยังพบว่า การกิน Folic acid ที่มากเกินไป ทำให้เกิดภาวะซีด จากการขาดวิตามินบี 12 (Pernicious anemia) รวมถึงพบความสัมพันธ์ ของการกิน Folic acid ที่มากเกินกับภาวะออทิสติกของเด็กหลังคลอดด้วย
อย่างไรก็ตามจะมีกรณีพิเศษที่อาจต้องได้รับ Folic acid มากกว่า 1 มิลลิกรัมต่อวัน นั่นคือคนที่ขาด Folic acid หรือมีความเสี่ยงที่จะขาด Folic acid เช่น เคยมีลูกหรือ คนในครอบครัวเป็น Neural tube defect มีปัญหาเรื่องการดูดซึม Folic acid มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน โรคอ้วน มีประวัติติดสุรา สูบบุหรี่เรื้อรัง หรือกินยาบางชนิด ที่ลดการดูดซึมของ Folic acid เช่น กลุ่มยากันชัก ยาต้านอาการทางจิตเวช ยากลุ่ม sulfanamide methotrexate เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไป หมออาจให้ขนาดสูงถึง 4-5 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นช่วงสั้นๆ 2-3 เดือน แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงหลังพ้นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
จากบทความนี้ หมอหวังว่าทุกคนคงได้ความรู้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถเลือกซื้อวิตามินที่เหมาะสมกับตัวเองได้ หาใครต้องการศึกษาความรู้เกี่ยวกับวิตามินโดยละเอียด สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ "เส้นทางสู่การเป็นแม่ ใน 3 เดือน" ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับวิตามินอื่นๆที่สำคัญกับคุณค่ะ
สั่งซื้อหนังสือในรูปแบบ E-book : https://www.drnoithefamily.com/product-page/how-to-get-pregnant
เขียนโดย
Tantawan Jomkwanjai.MD (พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ) drnoithefamily
Comments