top of page

6 ขั้นตอนฝึกลูกนอนยาว จากประสบการณ์ของหมอหน่อย (Get Your Baby To Sleep Through The Night)

หลายๆ คนสอบถามหมอหน่อยมาในเรื่องของเทคนิคการฝึกลูกนอนยาวนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยให้การนอนของลูกมีคุณภาพ ทำให้ growth hormone ทำงานได้ดี ลูกน้อยเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังช่วยลดความเหนื่อยล้าของพ่อแม่และคนเลี้ยงด้วย วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังคร่าวๆ นะคะ



เมื่อไหร่ลูกจะเริ่มนอนยาว?


การนอนยาว อาจไม่ได้หมายถึงการนอนตลอดทั้งคืน แต่แค่นอนต่อเนื่อง 6-9 ชั่วโมงก็สามารถจัดเป็นการนอนยาวได้ค่ะ โดยลูกน้อยจะเริ่มมีพัฒนาการเรื่องการนอนที่นานขึ้นหลังประมาณ 4 เดือน เนื่องจากกระเพาะของลูกจะสามารถจุนมได้มากขึ้น ทำให้ตื่นมาหิวน้อยลง โดยหลัง 6 เดือน อาจเริ่มสามารถฝึกลูกให้นอนยาวได้ค่ะ ประมาณ 6-9 เดือน ลูกน้อยอาจจะสามารถเริ่มกล่อมตัวเองนอนได้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการฝึกลูกนอนยาว


ในแต่ละบ้านมีการฝึกนอนยาวที่แตกต่างกันนะคะ ขึ้นกับการเลี้ยงลูกของแต่ละบ้าน บางบ้านแยกห้องนอนกับลูก บางบ้านนอนด้วยกัน บ้างครั้งอาจต้องใช้วิธีการฝึกนอนที่เรียกว่า Cry it out คือการปล่อยให้ร้อง ปรอบ ไปเรื่อยๆ จนลูกสามารถกล่อมตัวเองนอนได้


สำหรับบ้านหมอ ได้มีการเตรียมการฝึกนอนยาวไว้ตั้งแต่แรก ทำให้เมื่อฝึกอันนานอนยาว จึงยังไม่ต้องใช้วิธี Cry it out อันนาก็สามารถกล่อมตัวเองนอนต่อได้ และงดมื้อดึกได้ อย่างไรก็ตาม หมอหน่อยดูความพร้อมของอันนาเป็นหลัก อันนาเริ่มนอนยาว 6 ชั่วโมงตอน 6 เดือน และเริ่มให้นอนยาวจริงจังประมาณ 9-10 ชั่วโมงตอนประมาณ 9 เดือนค่ะ


6 ขั้นตอนการฝึกนอนยาว


1.สอนให้ลูกรู้จักกลางวันกลางคืนตั้งแต่หลังคลอด


หมอหน่อยเริ่มสอนให้อันนารู้จักกลางวันกลางคืนตั้งแต่หลังคลอด เนื่องจาก ตอนเค้าอยู่ในท้องทุกอย่างมืด ดังนั้นกลางวันจึงเป็นเรื่องใหม่ ควรสอนให้ลูกรู้ว่า กลางวันคืออะไร เช่นเปิดให้แสงเข้า พาออกนอกบ้าน มีเสียง หรือทำกิจกรรม ให้ลูกรู้ว่า กลางวันคือช่วงเวลาตื่น


กลางคืน ควรปรับสภาพแวดล้อมให้ลูกรู้ว่า ตอนนี้กลางคืนแล้ว ใกล้เวลานอน ห้องนอนเงียบ มืด สภาพแวดล้อมควรแตกต่างจากในช่วงเวลากลางวันอย่างชัดเจน


2. ทำกิจกรรมก่อนนอนให้เป็นกิจวัตรตั้งแต่หลังคลอด


การทำกิจวัตรก่อนนอนให้เป็น Routine ช่วยได้มาก และควรทำตั้งแต่หลังคลอด ให้ลูกรู้ว่า หากทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นช่วงเวลาใกล้เข้านอน กิจกรรมต่างๆ คือ

  • อาบน้ำอุ่น ทาครีม หรือนวดตัว

  • อ่านหนังสือก่อนนอน

  • ปรับไฟให้ห้องเริ่มมืด

  • ให้นมก่อนนอน อาจจับเรอหลังให้นมให้เรียบร้อย

  • เปิดเพลงกล่อมนอน

  • เริ่มกล่อมให้นอนหลับ

  • วางลูกบนที่นอน แล้วอยู่ใกล้ๆ คอยปลอบหรือกล่อมต่ออีกซักพัก

ในช่วงแรก ลูกอาจหลับด้วยการกินนม แต่แนะนำว่า อย่าให้ลูกหลับสนิทในช่วงกินนม เมื่อเห็นว่าอิ่มและเริ่มจะหลับ ให้หยุดให้นม จับเรอ และเริ่มกล่อมแทน การทำแบบนี้ตั้งแต่แรก ลูกจะเรียนรู้รูปแบบการนอน และเข้าใจการนอน ทำให้ตอนเราฝึกนอนยาวทำได้ง่ายขึ้น


3. ให้นอนกลางวันให้เพียงพอ


หลายคนคิดว่า ไม่นอนกลางวันจะช่วยให้นอนยาวได้ง่าย แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เนื่องจากยิ่งลูกนอนกลางวันไม่เพียงพอ ยิ่งทำให้ลูกยิ่งเหนื่อยและหลับได้ยากมากขึ้น ดังนั้นควรให้ลูกได้นอนกลางวันให้เพียงพอตามช่วงอายุของลูก (ตามภาพ)




4. กินให้อิ่มก่อนนอน


ก่อนนอนควรให้ลูกทานให้อิ่ม เพื่อให้นอนยาวได้นานขึ้น หมอหน่อยเริ่มให้อันนานอนยาว หลังอันนากินได้ดี ทานมื้อเย็นได้ดี และสามารถทานนมมื้อเย็นได้เพียงพอ เมื่อท้องอิ่มทำให้ลูกสามารถนอนยาวตอนกลางคืนได้นานขึ้น


5. สื่อสารกับลูกเรื่องการให้นอนยาว


ตอนให้อันนานอนยาวทั้งคืนและเลิกมื้อดึกจริงจัง หมอหน่อยได้มีการพูดคุย สื่อสารกับอันนาก่อน โดยบอกอันนาว่า วันนี้เราจะเริ่มนอนยาวแล้วนะคะ วันนี้จะไม่มีนมมื้อดึกแล้วให้นมได้พักผ่อนนะ เพราะการสื่อสารก่อน จะทำให้ลูกเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังจะทำ


6. วันที่เริ่มงดมื้อดึกและฝึกนอนยาวให้ทำแบบจริงจัง


ในวันที่เริ่มงดมื้อดึกแล้วให้นอนยาว แน่นอนว่าสิ่งที่แม่ๆ ต้องเจอคือการตื่นมาร้องขอกินนม การรับมือคือ

  • ตื่นขึ้นมากล่อม ปลอบลูกว่า วันนี้ไม่มีมื้อดึกแล้วนะคะ ให้นมพักนะคะ

  • หากลูกร้องอยู่ให้อุ้มกล่อม 5-10 นาทีแล้ววาง

  • ในคืนแรกอาจใช้เวลาให้ลูกกลับไปหลับต่อ 30-40 นาที แต่เวลาในการหลับต่อของลูกจะลดลงเรื่อยๆ แล้วจะสามารถหลับยาวได้

สำหรับอันนา คืนแรกที่เลิก ตื่นมาร้องขอกินนม หมอหน่อยกล่อมต่อ ไม่ให้กินใช้เวลา 10 นาที ก็สามารถนอนต่อได้ (วันที่เลิกให้กินก่อนนอนเต็มที่แล้วค่ะ) วันต่อมาอันนาสามารถนอนยาว แบบเลิกมื้อดึกได้เลย


ความสำเร็จในการเลิกมื้อดึกของหมอ เชื่อว่า มาจาก การเตรียมพร้อมมาตั้งแต่แรก และเลิกเมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมค่ะ


แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเช่นกันนะคะ คุณพ่อคุณแม่ ค่อยๆ ปรับตามลูกน้อยของตัวเองได้เลยนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่านเลยค่ะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ






ดู 9,473 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page