top of page

ลดอาการกรดไหลย้อนช่วงท้องได้อย่างไร? (Heartburn in Pregnancy)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

ในช่วงท้อง คุณแม่หลายคนอาจมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอก เรอเปรี้ยว บางคนอาจมีอาการมากจนรู้สึกหายใจไม่อิ่ม หรือหายใจไม่สะดวก อาการนี้เรียกว่า "กรดไหลย้อน" หรือ GERD (Gastroesophageal reflux disease) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งที่สร้างความไม่สุขสบายในแม่ๆ แล้วอาการกรดไหลย้อนเกิดจากอะไร? จะมีวิธีลดอาการนี้ได้อย่างไร? แล้วช่วงท้องสามารถทานยาลดอาการกรดไหลย้อนแบบไหนได้บ้าง? วันนี้เราไปติดตามเรื่องนี้กันค่ะ


อาการกรดไหลย้อนช่วงท้องเกิดจากอะไร?


ตามปกติหลังจากทานอาหาร อาหารจะผ่านหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาการ โดยจะมีหูรูดบริเวณระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หรือ Lower esophageal sphincter (LES) คอยปิดไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลกลับมาที่บริเวณหลอดอาหาร


แต่ในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ Progesterone จะทำให้กล้ามเนื้อ และหูรูดต่างๆ ขยายตัว รวมถึง LES ด้วย จึงทำให้ในช่วงท้อง คุณแม่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ยิ่งเมื่อมดลูกขยายใหญ่มากขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 จะดันส่วนของกระเพาะทำให้อาการของกรดไหลย้อน เป็นมากขึ้นไปอีก


อย่างไรก็ตาม คนท้องทุกคน ไม่จำเป็นต้องมีอาการกรดไหลย้อน ซึ่งอาการกรดไหลย้อนมักจะขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมการปฏิบัติตัว อาหารที่ทาน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนำหนักตัวในช่วงท้อง


อาการกรดไหลย้อน


เนื่องจากมีกรดจากในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหาร อาการที่จะพบได้บ่อยคือ

  • รู้สึกอืดแน่นท้อง

  • แสบร้อนกลางหน้าอก

  • เรอเปรี้ยว

  • คลื่นไส้อาเจียน

  • รู้สึกถึงรสเปรี้ยวในคอ

  • เจ็บคอ

  • ไอบ่อยๆ

  • แน่นกลางหน้าอก หายใจไม่อิ่ม


วิธีลดอาการกรดไหลย้อนในช่วงท้อง


  1. ระวังในเรื่องการกิน : หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดเยอะ อาหารรสจัด หรืออาหารที่ย่อยยาก เช่น อาหารรสเปรี้ยว มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม กาแฟ Chocolate น้ำอัดลม อาหารที่มีไขมันมากๆ

  2. แบ่งมื้ออาหาร กินน้อยๆ แต่กินบ่อยๆ : ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อหนักๆ แทนที่จะทานมื้อหนักๆ 3 มื้อ แบ่งเป็นมื้อเล็กๆ ประมาณ 6 มื้อ คือ มื้อเช้า - อาหารว่าง- อาหารเที่ยง-อาหารว่าง- อาหารเย็น- อาหารว่าง

  3. กินช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด นั่งตรงขณะกินข้าว

  4. ไม่กินก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง : ให้เวลาอาหารในการย่อยและเคลื่อนผ่านกระเพาะอาหารเพื่อลดอาการกรดไหลย้อน

  5. เดินหรือออกกำลังกาย : จะช่วยให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น อาหารผ่านได้ง่ายขึ้น

  6. ใส่เสื้อผ้าสบายๆ : ไม่ใส่เสื้อผ้าที่คับ หรือ กดบริเวณกระเพาะอาหาร

  7. นอนหัวสูง : โดยอาจใช้หมอนที่ป้องกันกรดไหลย้อน ที่มีความสูงประมาณ 6-9 นิ้ว นอนหันทางด้านซ้ายเพื่อให้กระเพาะอาหารอยู่ต่ำกว่าหลอดอาหารจะช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้

  8. อาหารกลุ่มโยเกิร์ตและนม จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อนได้

  9. ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้น้ำหนักขึ้นเร็วจนเกินไป และอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมช่วงท้อง


ช่วงท้องสามารถทานยาชนิดไหนเพื่อลดอาการกรดไหลย้อนได้บ้าง?


ยาที่สามารถใช้เพื่อลดอาการกรดไหลย้อน ที่คนท้องสามารถทานได้คือ

  • Aluminum hydroxide-magnesium hydroxide (แอนตาซิล เจล; category B)

  • Simethicone (Air-x; category C)

  • Calcium carbonate (Gaviscon; category C)

เมื่อไหร่ควรปรึกษาแพทย์


ในทางปฏิบัติอาการหลดไหลย้อนมักจะดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับเปลี่ยนการกิน อย่างไรก็ตาม มีอาการบางอย่างที่ต้องระมัดระวัง และควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติมคือ

  • อาเจียนเป็นเลือด

  • ถ่ายดำ

  • กลืนลำบาก

  • น้ำหนักลดผิดปกติ

  • ไอรุนแรง

  • เจ็บหน้าอกผิดปกติ

โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยและดูแลคุณแม่และลูกน้อยให้ปลอดภัยค่ะ


หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อแม่ๆ และช่วยเป็นแนวทางให้แม่ๆ สามารถลดอาการกรดไหลย้อนที่เกิดขึ้นได้นะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้านะคะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) Dr. Noi The Family






#อาการกรดไหลย้อนช่วงท้องรักษาอย่างไร #แก้ปัญหากรดไหลย้อนในช่วงท้องอย่างไร #คนท้องเป็นกรดไหลย้อนกินยาอะไรได้บ้าง

ดู 9,490 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page