top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

ช่วงท้องน้ำหนักแม่ควรขึ้นเท่าไหร่ดี? (How Much Weight Should You Gain During Pregnancy?)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

แม้ว่าตอนนี้คุณแม่จะมีเจ้าตัวเล็กที่กำลังเติบโตในท้อง แต่ก็ใช่ว่า คุณแม่จะกินเท่าไหร่ก็ได้นะคะ เพราะการที่กินมากเกินไปจนน้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลเสียต่างๆ ตามได้ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวานช่วงท้อง ความดันโลหิตสูงช่วงท้อง หน้าท้องแตกลาย หรือปัญหาต่อลูกในครรภ์ได้ แล้วระหว่างท้องแม่ๆ ควรน้ำหนักขึ้นประมาณเท่าไหร่ดี บทความนี้มีคำตอบค่ะ


ในช่วงท้องคุณแม่ ควรมีน้ำหนักที่ขึ้นอย่างเหมาะสม เพราะหากขึ้นน้อยไป ลูกอาจมีน้ำหนักตัวน้อย หรือขึ้นมากไป อาจเกิดปัญหาช่วงท้องได้เช่นกัน น้ำหนักที่เหมาะสมของแม่ๆ ขึ้นกับน้ำหนักก่อนการตั้งครรภ์ โดยนำ BMI มาเป็นตัวใช้พิจารณาน้ำหนักที่ควรขึ้นอย่างเหมาะสมค่ะ (คำนวน BMI)


หรือ BMI = น้ำหนักตัว (Kg)/ (ส่วนสูง (m) x ส่วนสูง (m) )


โดยน้ำหนักที่ควรเพิ่มคือ

  • BMI น้อยกว่า 18.5 น้ำหนักที่ควรเพิ่มคือ 12.5-18 กิโลกรัม

  • BMI 18.5 - 24.9 น้ำหนักที่ควรเพิ่มคือ 11.5-16 กิโลกรัม

  • BMI 25-29.0 น้ำหนักที่ควรเพิ่มคือ 7- 11.5 กิโลกรัม

  • BMI มากกว่า 30 น้ำหนักที่ควรเพิ่มคือ 5 - 9 กิโลกรัม

น้ำหนักควรจะขึ้นประมาณไหน?


ไตรมาสแรก : ในไตรมาสแรก เนื่องจากคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง ทานไม่ได้ หลายคนอาจมีน้ำหนักลด หรือไม่ขึ้นได้ เป็นเรื่องปกติ และไม่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์แต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงแรกนี้ ทารกไม่ได้ต้องการมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นชัดเจน แค่การเติบโตเป็นไปอย่างเหมาะสมก็พอ ดังนั้นในช่วงนี้ คุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องเพิ่มน้ำหนัก แค่ทานอาหารที่ดีต่อร่างกายก็เพียงพอ (อ่านเพิ่มเรื่องการกินในไตรมาสแรก)


ไตรมาสที่ 2,3 : ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ทารกจะเริ่มมีขนาดตัว และน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ที่ทารกจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงนี้คุณแม่อาจจะมีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นประมาณ

400- 500 กรัมต่อสัปดาห์


การควบคุมน้ำหนักให้ขึ้นอย่างเหมาะสม มีความสำคัญมากในช่วงท้อง


น้ำหนักที่ขึ้นมาจากอะไรบ้าง?

  • น้ำหนักทารก 3-4 กิโลกรัม

  • รก 0.5-1 กิโลกรัม

  • มดลูกที่ขยาย 0.5-1 กิโลกรัม

  • หน้าอก 0.5-1 กิโลกรัม

  • น้ำคร่ำ 1-1.5 กิโลกรัม

  • เลือด 1.5-2 กิโลกรัม

  • โปรตีนและไขมันสะสม 3-5 กิโลกรัม

  • อื่นๆ 1-2 กิโลกรัม

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือน้อยเกินไป


น้ำหนักตัวขึ้นมากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น

  • ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ลูกตัวใหญ่

  • คลอดก่อนกำหนด

  • มีปัญหาช่วงคลอดมากขึ้น

  • มีเลือดออกมากช่วงคลอด

  • ลดน้ำหนักหลักคลอดได้ยาก

  • มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้น

  • มีความสูงความดันโลหิตสูงช่วงท้อง

  • ลูกมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนหลังคลอด

น้ำหนักตัวขึ้นน้อยเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์เช่นกันคือ

  • น้ำหนักทารกน้อย

  • คลอดก่อนกำหนด

  • ลูกติดเชื้อได้ง่าย

  • ลูกอาจมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ในระยะยาว

  • เกิดภาวะตัวเหลืองหลังคลอดได้ง่าย

ทำอย่างไรถึงจะเพิ่มน้ำหนักได้อย่างพอดี?

ในช่วงท้อง มีหลายความเชื่อว่า ให้ทานเยอะๆ กินเผื่อลูก หรือกินให้ได้เท่ากับ 2 คน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก จริงๆ แล้วในช่วงท้องคุณแม่ต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพียง 300 กิโลแคลอรี่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และประมาณ 500 กิโลแคลลอรี่ ในไตรมาสที่ 3 เท่านั้น


ซึ่ง 300-500 กิโลแคลอรี่ ก็เท่ากับการกินอาหารว่างเสริมจากการกินปกติ ซึ่งคุณแม่อาจทานเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารเป็น

  • โยเกิร์ต กับ snake bar

  • นมถั่วเหลือง กับ แอปเปิ้ล 2 ลูก

  • ขนมปัง whole wheat กับ เนยถั่ว เป็นต้น

นั้นก็หมายความว่า คุณแม่สามารถทานอาหารได้ตามปกติ และเพิ่มอาหารเสริมเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น


ทำอย่างไร ถ้าน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว?


ประมาณครึ่งหนึ่งของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีน้ำหนักตัวขึ้นมากจนเกินไป คำแนะนำคือ

  • ควบคุมอาหารตามปริมาณพลังงานที่แนะนำต่อวัน

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่งมามากๆ

  • หลีกเลี่ยงน้ำหวานต่างๆ

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งมากเกินไป

  • หลีกเลี่ยงอาหารทอดต่างๆ

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ทำอย่างไร ถ้าน้ำหนักขึ้นน้อยเกินไป?

ประมาณ 20% ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ มีน้ำหนักตัวที่น้อยจนเกินไป คำแนะนำคือ เพิ่มอาหารกลุ่มไขมันดี และ โปรตีนมากขึ้น เช่น

  • อโวคาโด้

  • เนยถั่ว

  • อกไก่ หรือ เนื้อไร้มัน

  • ไข่ต้ม

  • ถั่วต่างๆ

  • ปลาต่างๆ

โดยสามารถเพิ่มพลังงานต่อวันให้มากขึ้น 500-700 กิโลแคลอรี่ โดยเลือกกลุ่มอาหารที่ดีต่อสุขภาพค่ะ


อย่างไรก็ตาม ถ้าแม่ๆ ท่านไหน มีปัญหาเรื่องการควบคุมน้ำหนักช่วงท้อง สามารถปรึกษาคุณหมอที่ดูแลเพิ่มเติม เพื่อขอคำแนะนำได้ค่ะ ที่สำคัญอย่างลืมทานวิตามินบำรุงให้เหมาะสม และเพียงพอนะคะ




เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD) Dr. Noi The Family

#น้ำหนักที่ควรขึ้นตอนท้อง #น้ำหนักตอนท้องขึ้นเท่าไหร่ดี #ช่วงท้องน้ำหนักควรขึ้นเท่าไหร่



ดู 3,158 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page