หากใครเป็นถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS แล้วกำลังอยากมีลูก และเผชิญปัญหามีบุตรยาก แล้วกำลังหาความช่วยเหลือ วันนี้หมอหน่อยมีวิธีช่วยเหลือเพื่อนๆ PCOS ทุกคนค่ะ ถ้าคุณกำลังสงสัยว่า ถ้าคนที่เป็น PCOS อยากท้องต้องทำอย่างไร? มีวีธีไหน ที่ช่วยให้ท้องได้ง่ายขึ้นบ้าง? วันนี้หมอหน่อยมีความรู้ดีๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ ไปติดตามกันได้เลย
ถ้าเป็น PCOS สามารถท้องได้มั๊ย?
แม้ว่า PCOS จะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยากอันดับหนึ่งในหญิงวัยเจริญพันธ์ เนื่องจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง แต่ PCOS ก็เป็น 1 ในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่ยังสามารถรักษาได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีธรรมชาติ การใช้ยา หรือการใช้เทคโนโลยี และคนที่เป็น PCOS ก็ตั้งท้องอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คนที่เป็น PCOS ยังสามารถมีลูกได้ ถ้าทราบวิธีในการปฎิบัติตัว และการรักษา
กลไลหลักของการเกิด PCOS และทำให้ไข่ไม่ตกคือ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) และภาวะที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism) ซึ่งหากสามารถทำให้ 2 ภาวะนี้ดีขึ้น จะส่งผลดีต่อการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ อาจทำให้ไข่กลับมาตกปกติได้ และเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งเทคนิคที่ช่วยทำให้คนที่เป็น PCOS ท้องได้ง่ายขึ้น คือ
1. การปรับเปลี่ยนการกินอาหาร
เนื่องจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นกลไลหลักที่ทำให้เกิด PCOS และทำให้ไข่ไม่ตก ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทานอาหารเพื่อลดภาวะดื้อต่ออินซูลินจึงมีความสำคัญ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอาหารแนะนำสำหรับคนที่เป็น PCOS) โดยสามารถสรุปหลักการกินอาหารคร่าวๆในคนที่เป็น PCOS คือ
ลดหรืองดการทานอาหารที่มี Glycemic index สูงๆ
เพิ่มการทานผักและผลไม้หลากสี
เพิ่มผลไม้กลุ่มเบอร์รี่
เพิ่มอาหารที่มี Omega-3 สูง
เพิ่มอาหารที่เป็นไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อโวคาโด้ ถั่วต่างๆ
งดการทานอาหารที่มี Trans Fat เป็นต้น
หากสามารถปรับเปลี่ยนการทานอาหารได้ จะช่วยให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินดีขึ้น ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำให้การทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ทำงานได้ดีขึ้น ทำให้ไข่สามารถกลับมาตกได้ปกติได้ ทำให้มีโอกาสตั้งท้องได้มากขึ้น
2. การลดน้ำหนัก
โดยส่วนใหญ่คนที่เป็น PCOS มักจะมีปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนลงพุง คนที่เป็น PCOS ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ที่ BMI 20-24 โดยพบว่าหากสามารถลดน้ำหนักได้ 5-10% ของน้ำหนักตัวเดิม ก็สามารถช่วยทำให้ไข่กลับมาตก รวมถึงทำให้อาการต่างของ PCOS ดีขึ้นด้วย เช่น ภาวะดื้อต่ออินซูลินดีขึ้น ฮอร์โมนเพศชายลดลง แต่ปัญหาของคนที่เป็น PCOS คือ การลดน้ำหนักกลับเป็นเรื่องที่ยากมาก และโอกาสล้มเหลวในการลดน้ำหนักสูงถึง 40% เนื่องจาก
อัตราการเผาผลาญพลังงานต่อวัน (Basal metabolic rate, BMR) ของคนที่เป็น PCOS ลดลงประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน กล่าวคือ คนที่ไม่เป็น PCOS มี BMR ประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ในขณะที่คนที่เป็น PCOS มีแค่ประมาณ 1,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ทำให้ การกินเพียงเล็กน้อยก็อาจเกินที่ต้องการต่อวันแล้ว และการควบคุมการกินให้ต่ำกว่า BMR จึงเป็นเรื่องที่ยากมากๆ
เนื่องจากการที่มีอินซูลินในร่างกายมาก จากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้คนที่เป็น PCOS มีความอยากอาหารมากกว่าปกติ และรู้สึกหิวของหวานได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม หลักการของการลดน้ำหนักในคนที่เป็น PCOS คือการเลือกชนิดของอาหารที่ทาน และเน้นการออกกำลังอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และประเมินผลของการลดน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอค่ะ
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
มีการศึกษาพบว่า คนที่เป็น PCOS ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ พบว่า อาการต่างๆ รวมถึงการตกไข่ดีขึ้นแม้ว่า น้ำหนักจะไม่ลดลงก็ตาม ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้เพื่อเพิ่มโอกาสให้มีลูกได้ง่ายขึ้นในคนที่เป็น PCOS นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง คือ
ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ช่วยให้ร่างกายใช้อินซูลินได้ดีขึ้น
ช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น เนื่องจากคนที่เป็น PCOS มักจะมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ การออกกำลังกายจะช่วยให้การหลับของคนที่เป็น PCOS ดีขึ้น
ช่วยลดฮอร์โมนความเครียดในร่างกาย
ช่วยลดระดับไขมันในร่างกาย
เพิ่มฮอร์โมนความสุข (Increase endorphins)
โดยควรเลือกการออกกำลังกายแบบที่ไม่หนักมาก หรือ Moderate intensity เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การเล่นโยคะ เป็นต้น
4. การกินวิตามินบำรุงเพิ่ม
ในคนที่เป็น PCOS จะมีภาวะขาดวิตามินบางชนิดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะ วิตามินดี (Vitamin D) เนื่องจากความผิดปกติของการทำงานของอินซูลิน และการเพิ่มขึ้นของ androgen ส่งผลให้เกิดภาวะขาดวิตามินดีได้ง่ายกว่าคนทั่วไป และพบว่าคนที่ขาดวิตามินจะมีปัญหามีบุตรยากได้มากกว่าคนที่มีระดับวิตามินดีที่ปกติถึง 40% โดยแนะนำให้ทานวิตามินดีเสริมอย่างน้อย 400-1,000 IU ต่อวัน โดยอาจต้องเพิ่มเป็น 3,000-4,000 IU ในคนที่มีระดับวิตามินดีต่ำกว่า 30 ng/mL
นอกจากนี้คนที่เป็น PCOS ยังอาจจำเป็นต้องได้วิตามินเสริมอื่นๆที่สำคัญ เช่น Zinc, Omega-3, Magnesium ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของฮอร์โมนต่างๆดีขึ้น และลดอาการของ PCOS ได้ ช่วยทำให้ไข่ตกปกติขึ้น โดยอาจเลือกทานเป็น Prenatal vitamins ที่มีส่วนผสมของวิตามินต่างๆ อย่างเพียงพอ
สั่งวิตามินบำรุงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ : https://www.drnoithefamily.com/products
5. ทาน Myo-inositol เสริม
Myo-inositol หรือวิตามินบี 8 มีความสำคัญในการช่วยเหลืออินซูลินทำงานในการควบคุมระดับน้ำตาลให้ปกติ และควบคุมระดับฮอร์โมนเพศชายให้สมดุล โดย Inositol จะแบ่งออกเป็น Myo-inositol และ D-chiro inositol ที่จะทำงานรวมกันในอัตรา 40:1 ซึ่งพบว่าประโยชน์ของ Inositol ในคนที่เป็น PCOS มีหลายอย่างเช่น
ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ช่วยให้การตกไข่ปกติขึ้น
ประจำเดือนปกติมากขึ้น
เพิ่มคุณภาพให้ไข่
ลดอาการของฮอร์โมนเพศชาย
ลดภาวะเครียด
ลดภาวะแท้งในคนที่เป็น PCOS
ซึ่งขนาดที่แนะนำคือ Myo-inositol คือ 2- 4 กรัมต่อวัน โดยควรเลือก Inositol เสริมที่มีอัตรส่วน Myo-inositol : D-chiro inositol ที่ 40:1 เพื่อให้ใกล้เคียงกับความต้องการของร่างกาย (รอติดตามอ่านเรื่องนี้โดยละเอียดอีกทีนะคะ)
6. ยาช่วยกระตุ้นให้ไข่ตก
มียาบางชนิดที่สามารถช่วยทำให้ไข่กลับมาตกในคนที่เป็น PCOS ได้ เช่น Metformin, Chromiphine (Clomid) ซึ่งจะเป็นยากลุ่มแรกๆ ที่เลือกใช้
Merformin เป็นยารักษาเบาหวานที่ออกฤทธิ์โดยการเพิ่มความไวของอินซูลิน ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ลดน้ำตาลในเลือด เมื่อ metformin ไปลดภาวะดื้อต่ออินซูลินในคนที่เป็น PCOS ส่งผลให้ ฮอร์โมนเพศชายลดลง และทำให้การทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ดีขึ้น
Chromiphine หรือ Clomid เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการยับยังการทำงานของ Estrogen ส่งผลให้ต่อมใต้สมองกระตุ้นให้มีการหลั่ง FSH มากขึ้น ทำให้ไข่เติบโตดีขึ้น และอาจทำให้ไข่ตกออกมาได้ และเพิ่มโอกาสให้มีลูกได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การทานยาที่ช่วยให้ไข่ตก ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาทุกชนิด มีผลข้างเครียงที่ควรต้องระวัง และแพทย์จะสามารถติดตามการรักษาได้
จะเห็นว่า เทคนิคการเพิ่มโอกาสให้คนที่เป็น PCOS ท้องได้สำเร็จ หลักๆคือการลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และทำให้การทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ กลับมาทำงานได้เป็นปกติ โดยอาศัยการปรับเปลี่ยน Lifestyle เป็นหลัก และใช้วิตามิน รวมถึงยาช่วยให้ไข่ตก เป็นตัวเสริม ดังนั้น มาเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต และการกินใหม่กันค่ะ
วิตามินบำรุง : https://www.drnoithefamily.com/products
เขียนโดย
Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
#drnoithefamily #PCOS #pcosandfertility #fertility #PCOSอยากท้องทำอย่างไร #เทคนิคมีลูกง่ายในคนที่เป็นPCOS #เทคนิคมีลูกง่าย #อยากมีลูกทำอย่างไร #ถุงน้ำรังไข่หลายใบ
Comments