ใครเป็นแบบหมอหน่อยบ้างคะ? เมื่อถึงเวลาที่ต้องขยายครอบครัว นั้นก็คือการมีลูก มักจะตื่นเต้นและหาข้อมูลต่างๆที่จำเป็นในการตั้งครรภ์ แม้ว่าหน่อยจะเป็นหมอแต่เนื่องจากหน่อยเองไม่ได้เฉพาะทางสูตินารีเวชโดยตรง บางครั้งก็เหมือนจะลืมความสำคัญของการเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ไป เมื่อมาศึกษาแล้วจึงพบว่า บางอย่างที่เราควรทำ กลับลืมทำไปซะอย่างนั้น
วันนี้หน่อยเลยมาสรุป 8 ขั้นตอนการเตรียมตัวเพื่อเป็นคุณแม่ทางด้านสุขภาพที่สำคัญและไม่ควรลืม หากเพื่อนๆ ทำตาม 8 ข้อง่ายๆ ที่หมอหน่อยแนะนำ หน่อยเชื่อว่าเพื่อนๆ จะเป็นคุณแม่ที่แข็งแรง และมีลูกน้อยที่แข็งแรงเช่นกันค่ะ 8 ข้อนั้นมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
1. วิตามินบำรุง (Prenatal vitamins)
หากใครที่กำลังวางแผนตั้งท้อง อย่าลืมเริ่มทานวิตามินบำรุงก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนนะคะ วิตามินที่มีความสำคัญมากคือ โฟลิก หรือ Folic acid เพราะจะป้องกันโรค Neural tube defect หรือ หลอดประสาทไม่ปิดในทารกได้ โดยแนะนำให้ทาน Folic acid เสริม อย่างน้อย 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน อย่างน้อย 1-3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ โดยแนะนำให้เลือกวิตามินกลุ่ม Prenatal vitamins โดยตรง เพื่อให้แน่ใจว่า ได้รับวิตามินที่จำเป็นเพียงพอ และยังสามารถบำรุงไข่ได้
สำหรับวิตามินที่จำเป็นในช่วงการตั้งครรภ์มีอะไนบ้างนั้น เพื่อนๆสามารถติดตามอ่านได้จากบทความที่หน่อยเขียนไว้เรื่อง "วิตามินบำรุงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์" ได้ค่ะ โดย Prenatal vitamins นั้น สามารถทานได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ไปเรื่อยๆ จนคลอด และให้นมบุตรได้เลยค่ะ
วิตามินบำรุงแนะนำ :https://www.drnoithefamily.com/products
"การวางแผนมีลูกเป็นเรื่องใหญ่เรื่องนึงในชีวิต แต่หากมีการวางแผนที่ดีก่อนตั้งครรภ์ คุณจะเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพที่ดี และมีลูกน้อยที่แข็งแรงอย่างแน่นอนค่ะ”
2. จดรอบประจำเดือน (Track menstrutual period)
การจดรอบประจำเดือนมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยให้เราสามารถคาดคะเนวันไข่ตกของเราได้ง่าย เพื่อที่เราจะสามารถผลิตบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ โดยทั่วไปหากประจำเดือนเราสม่ำเสมอ คืออยู่ระหว่าง 21-35 วัน เราสามารถหาวันตกไข่ โดยนำ 14 ไปหักออกจาก รอบประจำเดือน เช่น รอบเดือน 30 วัน (30-14 = 16) ประจำเดือนวันแรกวันที่ 5 เมษายน 2020 นับต่อไปอีก 16 วัน วันที่ไข่ตกคือวันที่ 21 เมษายน 2020 นั่นเอง
วันตกไข่สำคัญอย่างไร หากเราทราบวันไข่ตก จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงเวลาไข่ตก ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงขึ้น เพื่อนๆ อาจใช้ Application ในมือถือช่วยในการจดรอบเดือน เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่าย และจะได้ไม่ลืมด้วยค่ะ ติดตามอ่านเรื่องการนับวันไข่ตก ได้ที่บทความของหน่อยได้เลยนะคะ
3. ตรวจร่างกายก่อนการตั้งครรภ์ (Preconception Check up)
ก่อนการตั้งครรภ์ หมอหน่อยอยากแนะนำให้เพื่อนๆ ปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจรางกาย และตรวจเลือดบางชนิดที่จำเป็นก่อนวางแผนตั้งครรภ์ หน่อยสรุปมาคร่าวๆที่จำเป็นดังนี้ค่ะ
ตรวจร่างกาย :
ตรวจร่างกายทั่วไป : ตรวจวัดความดันโลหิต แพทย์อาจตรวจปอด หัวใจ หรือต่อมไทรอยด์เพื่อดูว่าเรามีความผิดปกติหรือไม่
ตรวจภายใน: หน่อยแนะนำให้เพื่อนๆ ตรวจภายในก่อนว่างแผนตั้งครรภ์นะคะ อย่างน้อยแพทย์สามารถตรวจสอบให้เราได้ว่า เรามีภาวะผิดปกติที่อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น รังไข่ผิดปกติ มีก้อนที่มดลูก หรือมีความผิดปกติที่ปากมดลูก เพราะ ถ้าเราเจอความผิดปกติ เราจำได้รีบรักษา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ
ตรวจเลือด :
- Compleat blood count (CBC) เพื่อดูว่ามีภาวะซีดหรือไม่ เพื่อจะได้ทำการรักษาก่อนการตั้งครรภ์
- Blood group ถ้ายังไม่เคยทำ เนื่องจากจะมีความสำคัญเรื่อง Rh- ของแม่ที่อาจมีผลต่อลูก
- Rubella antibody status เนื่องจากจะได้วางแผนเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันหากยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อแล้วส่งผลต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์
- Varicella antibody status เพื่อพิจารณาวางแผนเรื่องการให้วัคซีนป้องกันอีสุอีใส หากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
- Hepatitis A, B, C antibody เพื่อพิจารณาเรื่องการให้วัคซีนป้องกัน เช่นกัน
- Vitamin D, Iron level เพื่อดูว่ามีภาวะบกพร่องทางโภชนาการ ที่ต้องแก้ไขหรือไม่
4. ฉีดวัคซีนที่สำคัญ ( Update immunizations)
วัคซีนที่มีความสำคัญเช่นวัคซีนป้องกันคางทูม คอตีบ ไอกรน (MMR vaccine) และ วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส(Varicella Vaccine) เนื่องจากหากได้รับเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์อาจส่งผลรุนแรงต่อทารกในครรภ์ได้ แต่ควรฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้อย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ สำหรับข้อมูลเรื่องวัคซีนชนิดอื่นๆที่สำคัญในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อนๆสามารถติดตามได้จากบทความ "วัคซีนที่จำเป็นก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์" ที่หมอหน่อยเขียนสรุปไว้ให้เพื่อนๆ ค่ะ
ในปัจจุบัน เนื่องจากมีสถานการณ์ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยหากคนท้องติดเชื้อ COVID-19 จะมีโอกาสที่จะมีอาการหนักมากกว่าคนทั่วไป ในปัจจุบันได้มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคนี้แล้ว ดังนั้น เป็นโอกาสที่ดีมากที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ COVID-19 โดยสามารถฉีดได้ทุกยี่ห้อที่สามารถหาฉีดได้ โดยควรฉีดให้ครบโดสก่อนปล่อยท้อง และควรเว้นระยะก่อนปล่อยท้องอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าภูมิคุ้มกันมีเพียงพอสำหรับการป้องกันการติดเชื้อดีแล้ว
5. งดการสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอร์ งดสารเสพติด (Avoid tobacco, alcohol, drugs)
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอร์ การใช้สารเสพติด ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของมารดา หรือ สุขภาพของทารกในครรภ์ อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์ มีความผิดปกติ น้ำหนักตัวน้อย หรือคลอดก่อนกำหนด ทั้งยังทำให้โอกาสตั้งครรภ์ยากยิ่งขึ้น ดังนั้น ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ หน่อยอยากแนะนำให้เพื่อนๆทุกคนเลิกสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอร์ งดการใช้สารเสพติด เพื่อเตรียมสุขภาพให้พร้อมสำหรับการมีลูกน้อยในอนาคต
6. ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก (Exercise and maintain healthy weight)
การเตรียมความพร้อมหนึ่งก่อนการตั้งครรภ์ คือการทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น เนื่องจากในช่วงการตั้งครรภ์ร่างกายของเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หากร่างกายไม่แข็งแรงพอ อาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา เช่น อาการเหนื่อยง่าย อาการปวดหลัง เป็นต้น WHO มีคำแนะนำให้หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายก่อนตั้งครรภ์ และสามารถออกกำลังกายเบาๆ ต่อเนื่องได้ตลอดในช่วงการตั้งครรภ์
หากเพื่อนๆ คนไหนมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป โดยการเปรียบด้วยด้วย BMI หรือ Body Mass Index (BMI) ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ กรณีเพื่อนๆ ผอมเกินไป หรือ BMI ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ควรมีการออกกำลังกายและเพิ่มน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากหากน้ำหนักตัวน้อยเกินไป อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด หรือปัญหาสุขภาพของแม่ด้านอื่นๆ ช่วงตั้งครรภ์ด้วย
7. ควบคุมโรคประจำตัว (Optimize preexisting medical conditions)
หากเพื่อนๆมีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลมชัก คุณควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในระดับที่ดี และแพทย์อาจช่วยพิจารณา เรื่องยาเดิมที่เรารับประทาน เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่นยากันชักบางชนิด ยาลดความดันบางชนิด เป็นต้น
8. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ ( Eat a balance Diet)
การทานอาหารที่มีประโยชน์ มีโภชนาการครอบถ้วน ล้วนดีต่อสุขภาพของคุณ ทั้งก่อนและหลังตั้งครรภ์อีกด้วย หน่อยมี Tip ง่ายๆ ในการดูแลเรื่องโภชนาการมาแนะนำบางส่วนค่ะ
- ลดการทานอาหารที่มีน้ำตาลมากๆ และลดการดื่มกาแฟลง
- ทานอาหารที่มีโปรตีนมากขึ้น โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่ว
- ทานอาหารที่มีธาตุเหล็กจากพืช
- ทานผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม เพิ่มขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงก่อนการตั้งครรภ์
- ระวังการรับประทานอาหารทะเล ที่อาจบนเปื้อนสารปรอท
เพื่อนๆ ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เตรียมพร้อมที่จะเป็นคุณแม่ที่แข็งแรงค่ะ
นี่คือ 8 ขั้นตอนง่ายๆ ที่หน่อยรับรองว่า หากเพื่อนทำตาม 8 ข้อนี้ เพื่อนๆ จะไม่ผิดหวังค่ะ การวางแผนมีลูกเป็นเรื่องใหญ่เรื่องนึงในชีวิต แต่หากมีการวางแผนที่ดีก่อนตั้งครรภ์ คุณจะเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพที่ดี และมีลูกน้อยที่แข็งแรงอย่างแน่นอนค่ะ
By. Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
#การเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ #การดูแลขณะตั้งครรภ์ #ความรู้คุณแม่มือใหม่ #เคล็บลับคุณแม่ #คุณแม่มือใหม่ต้องรู้ #ความรู้เพื่อคุณแม่ #เตรียมตัวก่อนท้อง
ถ้ามีแผลนจะมีลูกต้องงด ให้วิตามินผิวขาวก่อนกี่เดือนคะ