top of page

วิตามินบำรุงก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์-Prenatal supplyments

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

สาวๆหลายคนที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ อาจจะยังไม่ทราบว่าจริงๆแล้วตนเองอาจมีภาวะขาดวิตามินหรือเกลือแร่ที่จำเป็น ซึ่งส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ หรือ อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆในช่วงที่ตั้งครรภ์ได้ วันนี้หน่อยจะมาให้ความรู้ และแนะนำวิตามินที่จำเป็นในช่วงก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ (Prenatal vitamins) เพื่อให้สาวๆทุกคนเตรียมความพร้อม และดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้มีสุขภาพสมบูรณ์และแข็งแรงค่ะ


หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยมานานแล้วว่า ช่วงที่เรากำลังวางแผนที่จะตั้งครรภ์ และระหว่างการตั้งครรภ์นั้น การทานวิตามินเสริมที่มีขายตามท้องตลาดจำเป็นหรือไม่? หากตั้งครรภ์แล้วยังสามารถทานต่อได้มั๊ย? และจำเป็นต้องทานวิตามินชนิดไหนบ้าง? หมอหน่อยเองก็เคยสงสัย จึงได้หาข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ และได้ข้อมูลที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ เช่นกัน วันนี้จะนำมาสรุปให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายๆ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการเลือกวิตามินเสริมที่เหมาะสมในการวางแผนตั้งครรภ์ และดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ค่ะ


ภาวะขาดสารอาหารในมารดาที่ตั้งครรภ์พบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในแถบ Southeastern Asia พบภาวะขาดสารอาหารมากถึง 20% ในมารดาที่ BMI น้อยกว่า 18.5 kg/m2 ซึ่งภาวะขาดสารอาหารนี้ส่งผลให้ เกิดภาวะแท้ง ทารกมีความผิดปกติ ภาวะคลอดก่อนกำหนด และส่งผลระยะยาวต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ


แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการส่งเสริมให้ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกทานอาหารที่หลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่า การที่จะรับประทานอาหารต่างๆ เพื่อให้ได้รับวิตามินและเกลือแร่ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในช่วงก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์นั้นเป็นไปได้ยาก วิตามินบำรุงที่มีขายตามท้องตลาด (Prenatal vitamins) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อเสริมในมารดาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นได้อย่างเพียงพอ แต่ควรต้องเลือกวิตามินบำรุงที่ปลอดภัยและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดภาวะได้รับวิตามินเกินขนาด ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้


เมื่อไหร่เราควรเริ่มทานวิตามินบำรุงครรภ์?


จริงๆ แล้วหญิงทุกคนทีอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ควรทานวิตามินบำรุงเสริมทุกคน ยิ่งทานเร็วเท่าไหร่ยิ่งเกิดประโยชน์มากเท่านั้น เนื่องจากวิตามินที่ได้เสริมเข้าไป จะช่วยลดปัญหาของการขาดวิตามิน ช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ทั้งภาวะแท้ง หรือทารกมีความผิดปกติ โดยควรทานในรูปแบบวิตามินรวมซึ่งจะมีความครบถ้วนของวิตามินที่จำเป็นมากกว่า วิตามินตัวเดี่ยวๆ โดยอาจเลือกเป็นวิตามินบำรุงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ (Prenatal Vitamins) เนื่องจากจะมีวิตามินที่จำเป็นในปริมาณที่ครบถ้วนและเหมาะสมมากกว่าวิตามินเสริมโดยทั่วไป

“ภาวะขาดสารอาหารขณะก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงทั้งต่อมารดาและทารกในครรภ์ การได้รับสารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ที่จำเป็นอย่างเพียงพอในระหว่างการตั้งครรภ์ ช่วงลดภาวะผิดปกติในการตั้งครรภ์ ทั้งต่อมารดาและทารกในครรภ์ ได้อย่างชัดเจน”

โดยวิตามินที่มีความสำคัญ และควรได้รับตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ไปเรื่อยๆ ตลอดการตั้งครรภ์ประกอบไปด้วย


1. โฟลิก (Folic acid)


โฟลิก (Folic acid) หรือวิตามิน B9 มีส่วนสำคัญในการสร้าง DNA และการพัฒนาของระบบประสาทของทารก หากมารดาขาดโฟลิก อาจส่งผลให้ทารกมี ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defect) ภาวะไม่มีกะโหลกศีรษะ (anencephaly) หรือ ถุงยื่นผ่านกระดูกสันหลัง (Spina bifida) หญิงวัยเจริญพันธุ์ในไทยมีถึงมากกว่า 15% ที่ขาดโฟลิก เนื่องจากได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ ดังน้้น จึงแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ทานโฟลิกเสริมเป็นประจำอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวัน และทานอย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์ หากอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรทานอย่างน้อย 400-800 ไมโครกรัมอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันภาวะผิดปกติของระบบประสาทของทารก แต่ไม่ควรทานเกิน 1 มิลลิกรัมต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ได้ และส่งผลต่อสติปัญญาของทารกในระยะยาวได้

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ความสำคัญของโฟเลต


2. ธาตุเหล็ก (Iron)


ภาวะขาดธาตุเหล็กพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ โดยในเมืองไทยพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดธาตุเหล็กมากกว่า 40% ของประชากรหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดภาวะซีดขณะตั้งครรภ์ ภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ภาวะช๊อคจากการเสียเลือดหลังคลอด ในปัจจุบัน แนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก หรือทานธาตุเหล็กเสริม 15 มิลลิกรัมต่อวัน และ หากตั้งครรภ์ควรทาน 27-40 มิลลิกรัมต่อวันอย่างต่อเนื่อง โดยผลข้างเคียงของการทานธาตุเหล็ก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งอาจมีผลในช่วงการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก จึงอาจหยุดทานธาตุเหล็กได้ในช่วง 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หากมารดาไม่มีภาวะซีดร่วมด้วย และควรเริ่มทานธาตุเหล็กเสริมทันทีเมื่ออาการคลื่นไส้อาเจียนลดลงหรือเริ่มสัปดาห์ 14 ของการตั้งครรภ์

อ่านเพิ่เติมเรื่อง ความสำคัญของธาตุเหล็ก


3. ไอโอดีน (Iodine)


ไอโอดีน (Iodine) เป็นส่วนสำคัญในการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งสำคัญต่อ Cell metabolism และสมดุลต่างๆ ของร่างกาย มารดาที่ขาดไอโอดีน พบว่าส่งผลให้เกิด ภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Still birth or abortion) ทารกบกพร่องทางสติปัญญา (Mental growth retardation) ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและไม่สามารถแก้ไขได้ โดยทั่วไปยังพบมารดาที่ขาดไอโอดีนหนึ่งในสามของจำนวนประชากรตั้งครรภ์ จึงแนะนำในหญิงตั้งครรภ์เสริมไอโอดีน (Iodine) อย่างน้อย 220 ไมโครกรัมต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาด ไอโอดีน โดยได้มีการศึกษาพบว่า แม้ว่าจะทานอาหารที่มีไอโอดีนสูงร่วมด้วย ปริมาณที่ได้ต่อวันก็มักไม่เกินค่าที่กำหนด หรือ 1,100 ไมโครกรัมต่อวัน ดังนั้น การทานไอโอดีนเสริมยังเป็นที่แนะนำต่อหญิงตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดไอโอดีน


4. สังกะสี (Zinc)

สังกะสี (Zinc) สังกะสีเป็นเกลือแร่ที่มีส่วนสำคัญในระบวนการเติบโตของทารกในครรภ์ มีส่วนในการพัฒนาเซลล์ ระบบภูมิคุ้มกัน ของทารก อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าหญิงตั้งครรภ์กว่า 82% ไม่สามารถทาน Zinc ให้เพียงพอต่อความต้องการขณะตั้งครรภ์ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะ แท้ง, คลอดก่อนกำหนด, ทารกพิการ, ทารกขนาดตัวเล็ก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้ ทานวิตามินเสริม Zinc ในหญิงวัยเจริญพันธุ์ 8-11 มิลลิกรัมต่อวัน และแนะนำ หญิงตั้งครรภ์ทาน Zinc เสริม 11 มิลลิกรัมต่อวัน โดยสามารถทานอาหารที่มี Zinc เพิ่มได้แต่ไม่ควรเกิน 40 มิลลิกรัมต่อวัน


5. วิตามินดี (Vitamin D)


วิตามินดี (Vitamin D) มีส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกของทารก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ค่อยได้สัมผัสแสงแดดช่วงกลางวัน หรือไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำมักจะพบภาวะขาดวิตามินดีได้บ่อย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดความผิดปกติในทารก เช่น การสร้างกระดูกผิดปกติ กระดูกเปราะ ภาวะโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ภาวะชัก ภาวะน้ำหนักตัวน้อย ซึ่งโดยทั่วไปจะแนะนำให้ เสริมวิตามินดี ในหญิงตั้งครรภ์อย่างน้อย 400 IU หรือ 10 ไมโครกรัมต่อวัน ร่วมกับการทานอาหารที่วิตามินดีเสริมให้ได้ปริมาณ Vitamin D 1,000-2,000 IU ต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามินดีขณะตั้งครรภ์ โดยในคนที่มีภาวะขาดวิตามินดี อาจต้องได้วิตามินดีเสริมถึง 4,000-5,000 IU ต่อวัน

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ความสำคัญของวิตามินดี


6. แคลเซียม (Calcium)


แคลเซียม (Calcium) เป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระดูกของทารก และมีผลต่อความดันโลหิตของมารดา หากขาดแคลเซียมระหว่างการตั้งครรภ์ จะส่งผลให้กระดูกของทารกมีความผิดปกติ ตัวมารดาอาจมีภาวะความดันสูง (Preeclampsia) ได้ จึงมีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทานแคลเซียมเสริมให้ได้ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือโดยรวมจากอาหารอื่นๆที่ทานเพิ่มได้ไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน


7. โคลีน (Choline)


โคลีน(Choline) มีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของทารก เพราะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารก รวมถึงการพัฒนาและเสริมสร้างสมองส่วนของความจำ การเรียนรู้ และความสนใจ ของทารก นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเติบโตของทารกในครรภ์ และช่วยในการสร้างของรกด้วย การศึกษาพบว่า การหากมารดาได้รับโคลีน(Choline) ปริมาณเหมาะสมช่วงตั้งครรภ์ จะช่วยลดโรคสมาธิสิ้น(ADHD), Autism, Down syndrome ในทารกได้ แม้ว่าจะพบสารอาหารโคลีนในอาหารตามธรรมชาติ เนื้อสัตว์ ไข่ แต่ปริมาณที่ได้รับจากธรรมชาติมักไม่เพียงพอต่อความต้องการขณะตั้งครรภ์ โดยมีคำแนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทานโคลีน(Choline) 425 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วงครรภ์ควรทานโคลีน 450 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วงให้นมบุตรควรทาน 550 มิลลิกรีมต่อวัน


8. โอเมก้า 3 (Omega-3)


โอเมก้า 3 เป็นสารอาการที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างระบบประสาท สมอง และการมองเห็นของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ทารกจะมีความต้องการ Omega-3 มากถึงวันละ 50-70 มิลลิกรัมต่อวัน Omega-3 มีส่วนประกอบสำคัญ 2 ชนิดคือ EPA (eicosapentaenoic acid) และ DHA (docosahexaenoic acid) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีความสำคัญในช่วงตั้งครรภ์ EPA ช่วยลดการอักเสบต่างๆ ลดภาวะคลอดก่อนกำหนด ปัญหาการติดเชื้อ DHA มีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง ระบบประสาท และการมองเห็นของทารก นอกจากนี้ DHA ยังช่วยลดภาวะเครียดหลังคลอดให้แก่มารดาได้อีกด้วย โดยระหว่างที่ตั้งครรภ์นั้น แนะนำให้ทาน Omega-3 ที่มีส่วนผสมของ DHA 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน และ EPA 200-300 มิลลิกรัมต่อวัน


วิตามินบำรุงแนะนำ


นอกจากนี้ยังมี มกนีเซียม (Magnesium), Vitamin B, Vitamin C, Vitamin E, Copper และ Selenium ที่มีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับอย่างเพียงพอ หน่อยได้นำตารางแนะนำวิตามินและเกลือแร่เสริมในหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้เพื่อนๆทุกคนใช้ในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมให้เหมาะสมและปลอดภัยนะคะ หากใครมีข้อสงสัยอะไรเพิ่มเติม สามารถทิ้งคำถามไว้ได้ที่หน้า Forum นะคะ หมอหน่อยจะรีบหาข้อมูลมาตอบเพื่อนๆ ให้เร็วที่สุดค่ะ


Maternal mineral and vitamin supplementation in pregnancy

Expert Rev. Obstet. Gynecol. 5(2), 241–256 (2010)


อย่างไรก็ตาม อาหารเสริม ไม่ใช่คำตอบสำหรับสารอาหารทั้งหมดที่จำเป็นระหว่างการตั้งครรภ์นะคะ การทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ยังสำคัญที่สุดค่ะ ครั้งต่อไป หน่อยจะมาอธิบายเพิ่มเติม ว่าสารอาหารที่หน่อยได้เล่าให้ฟังวันนี้ อยู่ในอาหารประเภทไหนบ้าง และต้องทานปริมาณแค่ไหนถึงจะพอ ทุกคนมาติดตามไปด้วยกันนะคะ


📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ







#วิตามินบำรุงครรภ์ #วิตามินคนท้อง #ยาบำรุงคนท้อง #วิตามินที่จำเป็นในหญิงตั้งครรภ์ #วิตามินกินก่อนท้อง #แนะนำวิตามินคนท้อง #ความรู้สำหรับคุณแม่มือใหม่ #เตรียมตัวก่อนท้อง #เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ #ความรู้คุณแม่มือใหม่


By. Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


bottom of page