top of page

โปรไบโอติก (Probiotic) ดีต่อร่างกาย และคุณแม่ที่ท้องอยู่อย่างไร? (Probiotics for Pregnancy)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

หลายคนคงเคยได้ยินประโยชน์ของโปรไบโอติกมาไม่มากก็น้อย แล้วโปรไบโอติกคืออะไร? มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร? ที่สำคัญมีประโยชน์ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่อย่างไร วันนี้เราไปหาคำตอบเรื่องนี้กันค่ะ


โปรไบโอติกคืออะไร? What are probiotics?


โปรไบโอติก (Probiotics) คือ แบคทีเรียหรือยีสต์ที่ดี ที่อาศัยอยู่ในร่างกายของคุณ แม้ว่าเราจะมองว่าแบคทีเรียอาจเป็นสิ่งไม่ดีต่อสุขภาพ แต่แบคทีเรียบางตัวกลับมีบทบาทสำคัญที่ทำให้สุขภาพร่างกายของคุณแข็งแรง ช่วยต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้าย และทำให้ร่างกายและจิตใจของคุณแข็งแรง

ในร่างกายของเราจะพบเหล่าโปรไบโอติกได้ใน สำไส้ ช่องปาก ช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะ ผิวหนัง รวมถึงปอดของเราด้วย โดยโปรไบโอติกที่สำคัญต่อร่างกายของคุณคือ

แบคทีเรียกลุ่ม

  • Lactobacillus.

  • Bifidobacterium.

ยีสต์กลุ่ม

  • Saccharomyces boulardii.

หน้าที่สำคัญของเหล่าโปรไบโอติกที่มีต่อร่างกายของเราคือ

  • ช่วยในระบบการย่อยอาหารของร่างกาย

  • ต่อสู่กับแบคทีเรียที่ไม่ดี ช่วยไม่ให้คุณป่วยง่ายๆ

  • ช่วยในการดูดซึมและสร้างวิตามินบางชนิด

  • ปกป้องลำไส้จากแบคทีเรียที่ไม่ดีที่อาจมาจากอาหารที่คุณทาน

  • ช่วยในการทำงานของสมอง ลดภาวะเครียด

  • ช่วยให้ผิวหนังแข็งแรง

  • ช่วยในการดูดซึมยาบางชนิด

  • ลดการเกิดโรคบางชนิดเช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ลำไส้อักเสบ เหงือกอักเสบ ลดอาการท้องผูก ซึ่งโรคและอาการเหล่านี้ล้วนพบได้มากในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ทั้งสิ้น

คุณสามารถได้รับโปรไบโอติกจากอะไรได้บ้าง?


อาหารเป็นแหล่งสำคัญของโปรไบโอติกที่ดีต่อร่างกายของคุณ โดยอาหารที่มีโปรไบโอติกสูง เช่น โยเกิร์ต กิมจิ มิโซะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโปรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริม หรือ Supplement สำหรับคนที่ต้องการเพิ่มโปรไบโอติกในร่างกายด้วย


ประโยชน์ของโปรไบโอติกในคนท้อง


ในภาวะปกติโบรไบโอติกก็มีประโยชน์ต่อร่างกายของคุณอยู่แล้ว ยื่งในช่วงที่คุณตั้งครรภ์ เหล่าแบคทีเรียดีๆในร่างกายของแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโปรไบโอติกในช่องปาก ลำใส้ รก หรือช่องคลอดของแม่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ลดลง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ ตามมาเช่น เหงือกอักเสบได้ง่าย ท้องเสียได้ง่าย การดูดซึมอาหารไม่ดี มีอาการท้องผูก ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย หรือ ติดเชื้อบริเวณช่องคลอด


เชื่อว่า การที่ได้รับโปรไบโอติกอย่างเพียงพอในช่วยตั้งครรภ์ มีประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณแม่เอง และส่งผลต่อเนื่องให้ทารกในครรภ์ รวมถึงช่วงคลอดที่ทารกจะได้รับแบคทีเรียดีๆ ที่บริเวณช่องคลอด และช่วงให้นมที่ลูกจะได้รับแบคทีเรียที่ดีทำให้ลำไส้ของลูกแข็งแรงขึ้นด้วย


ประโยชน์หลักๆ ของโปรไบโอติกที่มีต่อคนท้องคือ

  • ช่วยให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ลดการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น

  • ลดภาวะเหงือกอักเสบ

  • ลดภาวะเครียด ลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

  • เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในช่วงตั้งครรภ์

  • ลดอาการท้องอืดและ IBS ในคนท้อง

  • ลดอาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์

  • ลดการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • ลดอาการแพ้ท้องในช่วงแรกของการตั้งครรภ์


โปรไบโอติกปลอดภัยในคนท้องหรือไม่?


โปรไบโอติกโดยทั่วไปค่อนข้างปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์ โดยควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ โดยสามารถเริ่มทานได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ไปเรื่อยๆ ตลอดการให้นมบุตร เนื่องจากพบประโยชน์ของโปรไบโอติกต่อทารกที่ดื่มนมเป็น ทั้งช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยเรื่องการทำงานของลำไส้ รวมถึงลดอาการผื่นแพ้ต่างๆ ด้วยค่ะ


ประโยชน์ของโปรไบโอติก


ผลิตภัณฑ์ Probiotics ที่แนะนำ :



เช่นเดิม วิตามินเสริมเป็นแค่ตัวช่วยหนึ่งเท่านั้น ความสำคัญของสุขภาพที่ดี ขึ้นอยู่กับอาหารที่คุณแม่ทานและพฤติกรรมโดยรวมของคุณแม่เป็นหลักค่ะ


แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้านะคะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย จาก เพจ Dr. Noi The family


#โปรไบโอติก #Probiotics #วิตามินคนท้อง


อ้างอิง

  1. Elias J et al., "Are probiotics safe for use during pregnancy and lactation?," Can Fam Physician, pp. 57 (3): 299-301, 2011.

  2. Dugoua J et al., "Probiotic safety in pregnancy: a systematic review and meta analysis of randomised controlled trials of Lactobacillus, Bifidobacterium and Saccharomyces spp.," J Obstet Gynaecol Can, pp. 31 (6): 542-552, 2009.

  3. Koren O et al., "Host remodeling of the gut microbiome and metabolic changes during pregnancy," Cell, pp. 150 (3): 470-480, 2012.

  4. BabyCentre Medical Advisory Board, "Probiotics and prebiotics in pregnancy," 2020. https://www.babycentre.co.uk/a1025252/probiotics-and-prebiotics-in-pregnancy

bottom of page