คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการใช้จุกหลอก ว่าจำเป็นต้องใช้จุกหลอกหรือไม่? ควรใช้ตอนไหน มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ควรเลิกใช้ตอนไหน วันนี้หมอหน่อยเลยมาสรุปเรื่องนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง เผื่อจะเป็นประโยชน์ค่ะ
จุกหลอก ถูกออกแบบมาให้คล้ายหัวนมของแม่ เนื่องจากเด็กทารกจะมี reflex เกี่ยวกับการดูด (Sucking reflex) ที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่อยู่ในท้อง ทำให้ในหลายครั้งการดูดแบบไม่มีน้ำนม ก็อาจช่วยให้ทารกสลบลงได้ อย่างไรก็ตามไม่ใช่เด็กทุกคนจำเป็นต้องใช้จุกหลอก เพราะเด็กยังสามารถฝึกตัวเองในการดูดมือ เพื่อให้สงบลงได้เช่นกัน
เมื่อไหร่ควรเริ่มใช้จุกหลอก?
กรณีที่ให้นมแม่ ( Breastfeeding) ตามคำแนะนำของ American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำให้เริ่มใช้จุกหลอกหลังจากที่ลูกฝึกดูดนมได้เก่งและน้ำนมไหลมาดีแล้ว หรือประมาณ 4 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากพบว่า การที่เริ่มใช้จุกหลอกเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดความสับสนกับการดูดหัวนมแม่ (Nipple confusion) เนื่องจากการดูดจุกหลอกจะง่ายกว่า ไม่ต้องออกแรงดูด ทำให้เด็กหลายคน อาจจะกลับไปดูดนมแม่จากเต้าได้ยากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกดื่มนมจากขวดตั้งแต่แรก ก็สามารถเริ่มใช้จุกหลอกได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่อง Nipple confusion
ข้อดีของการใช้จุกหลอก
ช่วยให้ลูกหลับง่ายขึ้น และทำให้หลับได้นานขึ้น
ช่วยลดการเกิดภาวะไหลตายในเด็ก หรือ sudden infant death syndrome (SIDS) (1)
เด็กบางคนต้องการดูดแม้ว่าจะไม่หิว จุกหลอกจะช่วยตอบสนองเด็กตรงนี้ได้
จุกหลอกอาจช่วยให้ลดความเจ็บปวดให้เด็กได้ เช่นตอนฉีดวัคซีน การทำหัตถการ หรือช่วงที่เด็กมีอาการ Colic (2)
ช่วยลดอาการจากการเปลี่ยนความดันบรรยากาศเวลาที่เดินทางด้วยเครื่องบิน ช่วยลดอาการปวดหูจากการเปลี่ยนแปลงความดันที่หูชั้นกลางได้
ช่วยให้เด็กสงบเมื่อต้องออกไปข้างนอกหรือเดินทาง
ข้อเสียของการใช้จุกหลอก
ถ้าให้ลูกใช้จุกหลอกเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหากับการให้นมจากเต้า เพราะเด็กอาจไม่ยอมดูด ดูดไม่ถูกวิธี หรือดูดในช่วงเวลาสั้นๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาลูกไม่ดูดเต้า นมคัด หัวนมแตกและน้ำนมไม่เพียงพอได้
ถ้าใช้จุกหลอกแทนการให้นมลูกเมื่อหิว อาจทำให้ลูกได้น้ำนมไม่เพียงพอ และมีน้ำหนักลดได้
ถ้าให้จุกหลอกยาวนานหลัง 6 เดือน อาจสร้างพฤติกรรมให้ลูก เช่น ต้องใช้จุกหลอกเท่านั้นถึงจะสงบได้ หรือตื่นทันทีที่จุกหลอกหลุดออกจากปาก
อาจพบปัญหาติดเชื้อในช่องหู ซึ่งพบได้บ่อยเมื่อใช้จุกหลอกหลังอายุ 6 เดือน
ปกติจุกหลอกมักชอบหล่นลงพื้น ถ้าไม่ทำความสะอาดบ่อยๆ อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนและเกิดการติดเชื้อได้
การใช้จุกหลอกที่มากเกินไปในช่วงกลางวัน อาจทำให้ลูกดูดนมน้อยลง นอนมากขึ้น อาจทำให้ตื่นบ่อยตอนกลางคืนได้
อาจส่งผลต่อปัญหาการเรียงตัวของฟันในอนาคตได้หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน (3)
ถ้าใช้จุกหลอกมากเกินไปอาจให้เลิกได้ยาก
เทคนิคการใช้จุกหลอกให้ถูกวิธี
ไม่จำเป็นที่เด็กทุกคนต้องใช้จุกหลอก แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการใช้จุกหลอก ก็ควรเข้าใจหลักการใช้ โดยเทคนิคที่แนะนำสำหรับการใช้จุกหลอกคือ
ควรเลือกใช้จุกหลอกที่เป็นชิ้นเดียว ไม่แยกออกจากกัน
ใช้จุกหลอกในช่วงที่จำเป็น และเลือกใช้ในพื้นที่ ที่ลูกคุ้นเคย เช่น เตียงนอน รถคาร์ซีท
ควรทำความสะอาดจุกหลอกเป็นประจำ ตามคำแนะนำของจุกหลอกแต่ละประเภท หรืออาจต้มในน้ำร้อน ประมาณ 5 นาที
ไม่ควรใช้สายคล้องจุกหลอก เพราะอาจทำให้เกิดการรัดที่คอของลูกได้
เลือกจุกหลอกแบบที่ไม่มีสาร BPA (BPA free)
เลือดจุกหลอกที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ปลอดภัย
ไม่ใช้จุกหลอกกับเด็กคนอื่นๆ
ใช้จุกหลอกขนาดที่เหมาะสมตามช่วงอายุ
ไม่ควรใช้จุกหลอกหากพบว่าจุกหลอกชำรุด
เมื่อไหร่ควรลดการใช้จุกหลอก
ตามคำแนะนำของ American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำให้หยุดการใช้จุกหลอกในช่วงอายุ 2-4 ขวบ โดยอาจจะลดการใช้หลังอายุ 6 เดือน เพื่อลดการเกิดการติดเชื้อในช่องหู หรือหยุดก่อน 3 ขวบเพื่อลดปัญหาความผิดปกติในช่องปาก หรืออาจสังเกตุจากลูก ถ้าลูกเริ่มกัดจุกหลอกแทนการดูด อาจถึงเวลาที่ต้องลดหรือหยุดการใช้จุกหลอก อย่างไรก็ตาม ไม่มีเวลากำหนดชัดเจน คุณพ่อคุณแม่ อาจปรึกษาหมอเด็กเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
เทคนิคในการลด/เลิก การใช้จุกหลอก
ฝึกให้ลูกสงบตัวเองด้วยวิธีอื่นๆ เช่นให้ดูดมือของตัวเอง ให้นอนฟังเพลง เป็นต้น
ลดช่วงเวลาในการใช้จุกหลอก โดยหากิจกรรมอย่างอื่นมาทดแทน
ถ้าลูกร้องไห้ต้องการจุกหลอก อาจดึงความสนใจด้วยของเล่นอย่างอื่นแทน
หากลูกเริ่มฝึกกัด อาจใช้ยางกัดทดแทนจุกหลอก
กล่าวโดยสรุป
จุกหลอก เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ได้ปลอดภัยสำหรับลูกน้อย แต่ควรศึกษาการเลือกซื้อ ข้อดี ข้อเสีย ของการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments