top of page

เข้าใจภาวะแท้ง แล้วจะเริ่มต้นใหม่ได้ง่ายขึ้น (Understand miscarriage, it's not your fault)

อัปเดตเมื่อ 28 มี.ค. 2566

ภาวะแท้ง (Abortion) หรือ Miscarriage เป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากเผชิญ เมื่อความดีใจกลายเป็นความผิดหวัง แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของคุณแม่หรือคุณพ่อเลยค่ะ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่า ภาวะแท้งคืออะไร? เกิดขึ้นจากสาเหตุไหน? อาการแสดงเป็นอย่างไร? ต้องดูแลตัวเองอย่างไร? แล้วถ้าจะท้องครั้งต่อไปต้องทำอย่างไร? ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราจะเริ่มต้นใหม่ได้ง่ายขึ้นค่ะ ไปติดตามอ่านข้อมูลกันเลยค่ะ



ภาวะแท้ง (Abortion) หรือ Miscarriage คือการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนถึงระยะที่ทารกสามารถเลี้ยงรอดได้ ซึ่ง WHO จะใช้อายุครรภ์ที่ต่ำกว่า 20 สัปดาห์ หรือน้ำหนักน้อยกว่า 500 กรัม ส่วนของเมืองไทยอาจจะนับที่ อายุครรภ์ก่อน 28 สัปดาห์ หรือน้ำหนักต่ำกว่า 1,000 กรัม หรือขึ้นอยู่กับศักยภาพของการดูแลทารกในแต่ละโรงพยาบาล

อุบัติการณ์ของภาวะแท้ง พบได้ประมาณ 15% ของการตั้งครรภ์ที่มีการยืนยันการตั้งครรภ์ แต่จริงๆอาจสูงถึง 50-60% เพราะในบางคนอาจตั้งครรภ์และแท้งออกมาโดยที่ตัวเองยังไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ด้วยซ้ำไป โดยภาวะแท้งจะพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะหากอายุมากกว่า 40 ปี อาจพบภาวะนี้ได้ถึง 26% ซึ่ง 80% เป็นการแท้งในไตรมาสแรก และ 50-60% เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม


สาเหตุของการแท้ง


ปัจจัยด้านทารก

  1. โครโมโซมผิดปกติ เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด ประมาณ 50-60% โดยเฉพาะเมื่อพ่อหรือแม่มีอายุมากขึ้น เนื่องจากโครโมโซมที่มาจากพ่อหรือแม่ อาจมีลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะแท้งช่วงอายุน้อยกว่า 9 สัปดาห์

  2. การพัฒนาของตัวอ่อนผิดปกติ โดยเฉพาะ Blighted ovum ซึ่งมีถุงการตั้งครรภ์แต่ตัวอ่อนฝ่อหายไป

  3. การพัฒนาของรกผิดปกติ

ปัจจัยจากมารดา

  1. ความผิดปกติทางกายภาพ เช่น มดลูกผิดปกติ (Septate uterus) มีเนื้องอกมดลูก ปากมดลูกหลวม (Incompetent cervix)

  2. ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ โรคเบาหวาน หรือ ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS)

  3. การติดเชื้อ การติดเชื้อบางชนิดส่งผลให้เกิดการแท้งได้ เช่น HIV ซิฟิลิส Beta-streptococcus group B

  4. ภาวะภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ เช่น Antiphospholipid antibody หรือ Lupus anticoagulant เป็นต้น

  5. อายุ อายุของมารดาที่มากขึ้น ทำให้โครโมโซมมีแนวโน้มที่จะผิดปกติมากขึ้น

  6. สิ่งแวดล้อมและ Lifestyle เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุราเรื้อรัง การดื่มกาแฟมากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวัน การใช้สารเสพย์ติด

  7. โรคประจำตัวของมารดาอื่นๆ อาจมีเรื่องยาของที่ทานมาเกี่ยวข้องได้

อาการแสดง


มีเลือดออกทางช่องคลอด อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาจมีชิ้นส่วนของการตั้งครรภ์หลุดออกมา ซึ่งต้องตรวจภายในและทำ Ultrasound ทางช่องคลอดเพื่อช่วยแยกประเภทของการแท้ง


การรักษา

ขึ้นอยู่กับประเภทของการแท้ง ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา


การแท้งเอง (Spontaneous abortion)

  • แท้งคุกคาม มีเลือดออก แต่ปากมดลูกยังปิด ส่วนใหญ่มักจะสามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อได้

  • แท้งที่เลี่ยงไม่ได้ มีเลือดออกปากมดลูกเปิดกรณีนี้มักไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อได้

  • แท้งไม่ครบ มีส่วนของเด็กหลุดออกมาแต่ยังไม่หมด ยังมีเลือดไหลอยู่

  • แท้งครบ ส่วนของเด็กและรกหลุดออกมาหมด ปากมดลูกปิด ไม่มีเลือดไหล

  • แท้งค้าง เด็กและรกยังค้างอยู่ โดยไม่รู้ว่าเด็กเสียชีวิตเมื่อไหร่

  • แท้งเป็นอาจิน แท้งติดต่อกัน 3 ครั้ง ควรต้องหาสาเหตุเพิ่มเติม

ความเสี่ยงที่จะแท้งบุตรซ้ำ


กรณีเคยแท้ง 1 ครั้งความเสี่ยงครั้งต่อไปไม่แตกต่างจากคนอื่นๆที่ตั้งครรภ์ แต่หากมีการแท้งติดต่อกัน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น โดยหากแท้งติดต่อกัน 2 ครั้งความเสี่ยงที่จะแท้งครั้งที่ 3 จะเพิ่มขึ้นถึง 40-45%


ผลกระทบต่อหญิงที่ผ่านการแท้ง


หญิงที่ผ่านการแท้งมักได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ทางร่างกาย อาจได้รับความเจ็บปวดจากการปวดท้องซึ่งเป็นอาการแท้งหรือเจ็บปวดจากการรักษา ทางจิตใจ มีความเสียใจที่สูญเสียลูกที่วาดฝันไว้ ในบางคนโทษว่าเป็นความผิดของตน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาวะแท้งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาได้เองจากปัจจัยบางอย่าง โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันได้หลังตั้งครรภ์ และมีลักษณะ random คือสามารถเกิดกับใครก็ได้ ไม่ได้เป็นความผิดของแม่แต่อย่างใด การดูแลสภาพจิตใจของหญิงที่ผ่านการแท้งมา เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกำลังใจจากสามี ครอบครัว เพื่อนและคนรอบข้าง


การป้องกัน

เราไม่สามารถป้องกันภาวะแท้งได้โดยตรง แต่เราสามารถลดโอกาสเกิดภาวะแท้งได้ โดยการเพิ่มโอกาสการเกิดการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ (Healthy pregnancy) มากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยน Lifestyle งดสูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และ กินวิตามินบำรุงก่อนตั้งครรภ์ (Prenatal vitamins)


ป้องกันภาวะแท้งอย่างไร เทคนิคป้องกันภาวะแท้ง


เมื่อไหร่จะสามารถตั้งครรภ์ต่อได้


หากเป็นการแท้งครั้งแรกและเป็นแท้งที่สมบูรณ์ ไม่ต้องขูดมดลูกและไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด สามารถดำเนินการปล่อยตั้งครรภ์ได้ทันที ที่สภาพร่างกายและจิตใจของแม่และพ่อพร้อม คำแนะนำที่เหมาะสมคือ ควรจะรอให้ประจำเดือนมาก่อนอย่างน้อย 1-3 รอบ เนื่องจากจะได้ทราบว่าร่างกายเขาสู่ภาวะปกติแล้วหรือไม่ เพื่อความง่ายในการดูว่าประจำเดือนขาดหรือไม่ คาดการณ์อายุครรภ์ได้ง่ายกว่า และมีเวลาในการกินวิตามินบำรุงก่อนตั้งครรภ์เนื่องจากประสิทธิภาพของการป้องกันความผิดปกติของทารกจะดีกว่า หากกินวิตามินล่วงหน้า 1-3 เดือน โดยหลังแท้งอาจจะเกิดการตกไข่ใน 2 สัปดาห์ หากยังไม่พร้อมมีบุตร ควรคุมกำเนิดทันทีหลังรักษาอาการแท้ง แล้วหยุดคุมกำเนิดอีกครั้งเมื่อพร้อม


แต่กรณีที่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ขูดมดลูก ผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้รออย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ผนังมดลูก ฮอร์โมนต่างๆ และสภาพร่างกายกลับมาทำงานตามปกติ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ในครั้งถัดไปค่ะ แต่อย่าลืมกินวิตามินและปรับพฤติกรรมต่างๆ เตรียมความพร้อมไปเลยนะคะ เพื่อที่การตั้งครรภ์ครั้งหน้า จะเป็นการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ และมีลูกน้อยที่แข็งแรงค่ะ


ภาวะแท้ง เป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากเผชิญ แต่หากเกิดขึ้นกับคุณแล้ว ควรทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะนี่คือการคัดสรรค์ของธรรมชาติ เพื่อที่จะทำให้เราได้ทารกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในอนาคต มาเริ่มเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้ครั้งหน้าเป็นการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงกันค่ะ


ผลิตภัณฑ์แนะนำ





Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


อ้างอิง

ธีระ ทองสง.(2555).สูติศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่5.เชียงใหม่:ลักษมีรุ่ง.

Annsofie Adolfsson.(2006).Miscarriage:Woman's experience and its cumulative incidence.Sweden:LiU-Tryck.


#drnoithefamily #miscarriages #abortion #pregnancy #ภาวะแท้ง #แท้งคุกคาม #ป้องกันภาวะแท้ง #รับมือภาวะแท้ง #สาเหตุภาวะแท้ง #การดูแลภาวะแท้ง #แท้งแล้วทำอย่างทำอย่างไรต่อ


bottom of page