top of page
  • YouTube
  • Facebook
  • Instagram
  • LinkedIn

สัปดาห์ที่ 7 ของการตั้งครรภ์ : 7 weeks pregnancy การเดินทางของคุณแม่สัปดาห์ต่อสัปดาห์

อัปเดตเมื่อ 5 ส.ค.

เชื่อหรือไม่คะว่าสัปดาห์นี้ ลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตอนเริ่มต้นถึง 10,000 เท่าแล้วค่ะ สมองของลูกก็เริ่มสร้างโดยสร้างมากขึ้น 100 เซลล์ในทุก 1 นาทีค่ะ ช่วงนี้โคลีนและ DHA จึงมีความสำคัญค่ะ ในสัปดาห์นี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปติดตามกันนะคะ




Highlight

  • สัปดาห์นี้ รกได้เริ่มสร้างแข็งแรงขึ้นอีกระดับ และเริ่มมีการแลกเปลี่ยนสารอาหารผ่านสายรกบ้างแล้วนะคะ

  • คุณแม่จะมีมูกที่ขาวขุ่นมากขึ้น เป็นกระบวนการหนึ่งในการปกป้องเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปสู่ช่องคลอด จนไปถึงลูกน้อยค่ะ

  • สัปดาห์นี้แผ่นที่มือของลูก เริ่มแยกเป็นร่องนิ้วเล็กๆ แล้วนะคะ

  • แม่เริ่มมีอาการแพ้ท้องชัดเจนขึ้นค่ะ


สัปดาห์นี้ลูกน้อยเป็นอย่างไร?


ตอนนี้ลูกมีขนาดโตกว่าตอนเริ่มต้นถึง 10,000 เท่าแล้วนะคะ แต่ขนาดก็ยังเล็กมากๆ เท่าผลบลูเบอร์รี่เท่านั้นเองค่ะ สมองของลูกเริ่มพัฒนามากขึ้น 100 เซลล์ต่อนาที แขนขาของลูกเริ่มยาวออกจากตุ่มเล็กๆ อันเดิม มือที่เคยเป็นแผ่น เริ่มมีการแบ่งร่องแยกตัวออก ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นนิ้วค่ะ ตอนนี้ไตก็เริ่มพัฒนา ซึ่งในอนาคต จะใช้กรองของเสียได้ค่ะ


อาการของคุณแม่สัปดาห์ที่ 7


แม้ว่าลูกขนาดแค่ผลบลูเบอร์รี่ แต่จากการทำงานของฮอร์โมน HCG อาจทำให้คุณแม่มีอาการคนท้องหลายๆ อย่างได้ค่ะ

  • อาการคัดตึงหน้าอก จากการที่ Estrogen และ Progesterone เพิ่มขึ้น หน้าอกจะเริ่มขยาย และการขยายของหน้าอก อาจมีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ค่ะ เตรียมขนาดขนาดเสื้อในได้เลยค่ะ

  • อาการคลื่นไส้อาเจียน ยังคงมีต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกนี้ค่ะ

  • อาการปัสสาวะบ่อย

  • อาการกรดไหลย้อน บางคนอาจจะเริ่มมีอาการกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากหูรูดหลอดอาหารคลายตัว และหลายๆ คน อาจมีอาการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดการตั้งครรภ์ได้ค่ะ

Tip สำหรับสัปดาห์นี้


  • ตอนนี้ คุณแม่ควรเริ่มติดตามน้ำหนักของตัวเองด้วยนะคะ โดยควรควบคุมให้น้ำหนักค่อยๆ ขึ้นไปตามเกณฑ์ การกินไม่ควรกิน x2 แต่กินเพิ่มประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ ก็เพียงพอต่อการเติบโตของลูกน้อยค่ะ (อ่านเพิ่มเรื่อง น้ำหนักตัวที่เหมาะสมช่วงตั้งครรภ์)

  • ช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ควรสังเกตเรื่องเลือดออกทางช่องคลอด ที่อาจพบได้ และอาจต้องระวังเป็นพิเศษ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง เลือดออกทางช่องคลอดไตรมาสแรก)

  • ในช่วงนี้ ที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่อาจเน้นทานน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ สามารถทานโปรตีนเสริมระหว่างมื้อได้ค่ะ

  • ผลไม้ กลายเป็นขวัญใจคุณแม่ในช่วงนี้ แต่ระวังอย่าทานที่มีน้ำตาลมากเกินไป เดี๋ยวน้ำตาลเกิน แล้วจะเสี่ยงภาวะเบาหวานช่วงตั้งครรภ์ค่ะ


ใกล้ผ่านเดือนที่ 2 แล้ว ยังมีสัปดาห์ที่ 8 ที่น่าเรียนรู้อีกสัปดาห์นะคะ แล้วมาติดตามกันค่ะ


#รักในแบบฉบับแม่


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)







ดู 79 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page