คุณแม่ที่คลอดตัวเล็กแล้ว หมอหน่อยขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ แต่ถ้าอารมณ์หลังคลอดของคุณแม่แทนที่จะมีความสุข แต่ทำไมกลับรู้สึก กังวล ไม่สบายใจ เครียด จนบางครั้งต้องร้องไห้ออกมา อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ปกติหรือไม่ อาการ Baby Blue คืออะไร? แบบไหนถึงต้องกังวล วันนี้เรามาเรียนรู้เรื่องนี้ค่ะ
อาการ Baby Blue คืออะไร?
Baby Blue เป็นอาการของอารมณ์เศร้าหลังคลอด ซึ่งมักพบประมาณ 1-3 วันหลังคลอด ซึ่งพบได้บ่อยถึง 80% ของคุณแม่หลังคลอด แต่มักจะหายไปเองในช่วงหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากที่คุณแม่ได้เริ่มปรับตัวเข้าสู่สถานะแม่ลูกอ่อนได้แล้ว
อาการของ Baby Blue
รู้สึกเศร้า วิตกกังวลไปทุกอย่าง
ร้องไห้ได้ง่าย แม้จะเป็นสาเหตุแค่เล็กน้อย
อารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวก็เศร้า
ไม่ค่อยอยากทานอาหาร
นอนไม่ค่อยหลับ
รู้สึกไม่ค่อยผูกพันธ์กับลูก
รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก กังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกมากเกินไป
ไม่สามารถตัดสินอะไรได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
รู้สึกเหนื่อยล้าง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา
สาเหตุของการเกิดอารมณ์แบบ Baby Blue
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน : ในช่วงหลังคลอดฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตโรน จะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดอาการ Baby Blue ได้
ความเหนื่อยล้า เจ็บปวดจากการคลอด : ความเหนื่อยล้าในช่วงคลอด ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกายของคุณแม่
ความกังวลในการเลี้ยงลูก : โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ที่ยังมีความกังวลและยังไม่สามารถปรับตัวในการเป็นคุณแม่ได้ อาจทำให้ไม่รู้ว่าต้องเลี้ยงลูกยังไง ต้องทำอะไรบ้าง จนเกิดเป็นความวิตกกังวลในหลายๆ เรื่อง
มีอุปสรรคในการให้นมแม่ : คุณแม่หลายคนที่ตั้งใจจะให้นมแม่ แล้วเจออุปสรรคเช่น เต้านมคัดตึง น้ำนมไม่ไหล หัวนมแตก น้ำนมน้อย มักจะเกิดอารมณ์วิตกกังวล เครียด หรือบางครั้งอาจถึงขั้นร้องไห้ เพราะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถให้นมลูกได้เหมือนคนอื่นๆ
ความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ : โดยเฉพาะกับสามี อาจมีความกังวลว่า สามีจะไม่สนใจ สนใจแต่ลูก หรือจะหมดรัก เพราะหลังคลอดเราไม่สวยเหมือนเดิม
เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น : คุณแม่อาจเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทำให้รู้สึกกดดันว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ อาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ดีเท่าคนอื่น
สาเหตุต่างๆ เหล่านี้สามารถกระตุ้นให้มีอาการเศร้าหลังคลอดได้ง่าย ซึ่งมักจะเป็นอารมณ์ปกติที่คุณแม่มักต้องเผชิญในช่วงหลังคลอดค่ะ
จะแยกระหว่างอารมณ์เศร้าหลังคลอดกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้อย่างไร? (Baby Blue & Postpartum depression)
การแยก 2 อย่างนี้มักจะใช้อาการและเวลาในการแยก คือ อาการ Baby Blue มักจะหายได้เองประมาณ 10-14 วันหลังคลอด แต่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีกเป็นนานมากกว่า 2 สัปดาห์หลังคลอด อาจมีความเครียดอย่างมาก ร้องไห้ตลอด รู้สึกตัวเองไร้ค่า ซึ่งหากมียังมีอาการเหล่านี้มากกว่า 2 สัปดาห์หลังคลอด ควรต้องไปพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาเพิ่มเติม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจเป็นรุนแรงถึงขึ้น มีความคิดฆ่าตัวตายได้
เทคนิคลดอาการเศร้าหลังคลอด
นอนพักให้มาก แม้ว่าช่วงหลังคลอดคุณแม่จะต้องเลี้ยงลูกให้นมลูกเป็นหลัก อาจทำให้มีเวลาในการนอนน้อยลง แต่การไม่ได้นอนจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้น อาการ Baby Blue อาจแย่ลงได้ ดังนั้นควรหาเวลาพัก เช่น นอนพร้อมลูก หรือให้คนอื่นช่วงเลี้ยงช่วงสั้น ให้ได้มีเวลาพัก
หาคนช่วงเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณตาคุณยาย แม่บ้านหรือพี้เลี้ยง ให้ช่วยทำงานบ้านต่างๆ เพื่อลดความเหนื่อยล้าของคุณแม่ค่ะ
ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกไปข้างนอกบ้าง อาหารที่มีคุณภาพดี ก็ย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย การออกไปสูดอากาศดีๆ นอกบ้าน ก็ช่วยทำให้จิตใจแจ่มใสมากขึ้นเช่นกัน
หาที่ปรึกษา อาจเป็นพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อระบายสิ่งที่ไม่สบายใจ หาทางออกไม่ได้ หรือขอคำปรึกษาเรื่องที่กังวล ซึ่งการได้ปรึกษาใครซักคน อาจทำให้รู้ดีขึ้นและหายกังวลได้
ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกตลอด 24 ชั่วโมง อาจหาเวลาพักสั้นๆ อาจแค่ 20 นาที ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น แช่น้ำอุ่น ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
หาสิ่งที่ทำให้หัวเราะได้ การหัวเราะเป็นยาที่ดีมากๆ อาจหาหนังตลก คลิปตลก ที่ทำให้หัวเราะได้ดูเพื่อผ่อนคลาย
วิตามิน DHA ช่วยได้ DHA นอกจากจะมีประโยชน์ในส่วนของการสร้างสมองของลูกน้อยแล้ว มีการศึกษาพบว่า การทาน DHA ตั้งแต่ช่วงท้อง เรื่อยๆ มาจนหลังคลอด สามารถช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้
หากคุณแม่ท่านไหน มีอาการเศร้าหลังคลอด อยากให้รู้ว่า ไม่ใช่คุณแม่คนเดียวที่เป็นค่ะ คุณแม่ส่วนใหญ่ก็รู้สึกเช่นนี้เช่นกัน แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นในไม่ช้า หมอหน่อยขอเป็นกำลังให้คุณแม่ทุกท่านด้วยนะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comentarios