top of page

ส่วนประกอบของนมแม่ในแต่ละช่วงเวลา นมส่วนหน้า และนมส่วนหลัง คืออะไร? (Breast milk composition)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

นมแม่อาหารหลักของลูกน้อย ที่มีสารอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบของลูกน้อย แต่ทราบหรือไม่คะว่า น้ำนมแม่ก็แตกต่างกันตามช่วงเวลา และมีส่วนประกอบในน้ำนมที่แตกต่างกันวันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าเกี่ยวกับส่วนประกอบของนมแม่ และเล่าถึง นมส่วนหน้า นมส่วนหลังว่าคืออะไร แม่ๆ จะได้เข้าใจในน้ำนมของตัวเองมากขึ้นค่ะ



น้ำนมแม่ อาหารแรกของลูก มีส่วนประกอบของสารอาหารที่สำคัญ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน น้ำ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ดีต่อลูกน้อย เช่น

  • เซลล์มีชีวิตนับล้านเซลล์ เช่น เม็ดเลือดขาว Stem cell ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และการเติบโต

  • โปรตีน และ กรดอะมิโน ที่จำเป็น ช่วยในการเติบโต กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

  • ส่วนประกอบของน้ำตาลในรูปแบบของ Oligosaccharides ที่ทำหน้าที่คล้ายพรีไบโอติก เป็นอาหารของแบคทีเรียดีในลำไส้ ป้องกันการติดเชื้อ

  • มีเอ็นไซม์มากกว่า 40 ชนิด ที่สำคัญต่อการทำงานของร่างกาย และช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก

  • มี Growth factors ที่ช่วยในการเติบโตของร่างกาย

  • มีวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญ ที่ช่วยในการทำงานของอวัยวะต่างๆ และการเจริญเติบโต

  • มี Antibodies ป้องกันการติดเชื้อทั้งจากแบคทีเรียและไวรัส

  • มี DHA และโคลีน ที่ช่วยในการสร้างระบบประสาทและสมอง และอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนประกอบต่างๆ ในน้ำนม อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงเวลาต่างๆ และตามความต้องการของลูกน้อยของคุณ โดยน้ำนมแม่จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ


น้ำนมระยะหัวน้ำนม (colostrums)


Colostrums เป็นน้ำนมในช่วง 3-4 แรก ลักษณะน้ำนมจะข้น เหนียว สีเหลืองเข้ม หรือ สีส้ม บางครั้งเราจะเรียกว่า "Liquid gold" ความสำคัญของน้ำนม colostrums คือ มีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณสูง ช่วยลดโอกาส การติดเชื้อในทารกแรกเกิด เปรียบเสมือน "วัคซีนธรรมชาติ" น้ำนม colostrums ให้พลังงานประมาณ 17 แคลอรี่/ออนซ์ โดยในวันแรก จะมีประมาณ 40-50 ซีซี/วัน หรือประมาณ 7 ซีซี/มื้อ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณเป็น 200-400 มิลลิลิตร/วัน ในระยะวันที่ 3-4 ถ้าทารกดูดอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ colostrums จะมีปริมาณน้อยแต่ก็เพียงพอสำหรับทารกระยะแรกเกิด และอุดมไปด้วยประโยชน์มากมาย


ระยะน้ำนมปรับเปลี่ยน (Transitional milk)


ระยะที่สองจะเป็นช่วงน้ำนมปรับเปลี่ยน ซึ่งอาจพบในช่วง 4-5 วันหลังคลอดไปถึงประมาณ 14 วันหลังคลอด น้ำนมจะมีการเพิ่มปริมาณมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกว่าเต้านมมีอาการคัดตึง ซึ่งเป็นสัญญาณว่า น้ำนมกำลังเริ่มผลิตอย่างจริงจังเนื่องจากลูกน้อยมีความต้องการน้ำนมที่มากขึ้น ช่วงระยะน้ำนมปรับเปลี่ยนนี้ สีของน้ำนมจะมีลักษณะเป็นสีครีม มีปริมาณไขมันที่มากขึ้น มีแคลอรี่มากขึ้น มีน้ำตาลมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก


ระยะน้ำนมแม่ (Mature milk)


หลังระยะปรับเปลี่ยนน้ำนม ประมาณสัปดาห์ที่ 3-4 หลังคลอด น้ำนมจะเข้าสู่ระยะน้ำนมแม่สมบูรณ์ ซึ่งระยะนี้จะอุดมไปด้วยโปรตีน น้ำตาล วิตามินและเกลือแร่ และมีส่วนประกอบดีๆ อีกมากมาย เหมือนที่หมอหน่อยกล่าวไปข้างต้น ในระยะนี้น้ำนมจะให้พลังงานมากขึ้น คือ 70-75 kcal ต่อน้ำนม 100 ml ส่วนประกอบหลักของน้ำนมแม่ในแต่ละวันจะไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่ส่วนประกอบย่อย อาจมีการเปลี่ยนในแต่ละวันตามความต้องการของลูกน้อย


อะไรคือนมส่วนหน้า และนมส่วนหลัง?


นมส่วนหน้า หรือ Foremilk เป็นนมที่ออกมาในส่วนต้นของน้ำนม มีน้ำและน้ำตาล Lactose เป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ทารกหายหิวและดับกระหายได้ในช่วงแรก นอกจากนี้ยังช่วยในการขับถ่ายของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี มีส่วนประกอบของเกลือแร่และวิตามินที่สำคัญ แต่ปริมาณไขมันจะน้อย ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือน นมไขมันต่ำ(skim milk) นั่นเอง


นมส่วนหลัง หรือ Hindmilk เป็นนมลักษณะข้นคล้ายครีม ซึ่งพบในช่วงหลัง มีปริมาณไขมัน โปรตีน และพลังงานที่มากขึ้น เปรียบได้กับนมเต็มส่วน (whole milk) ในนมส่วนนี้จะมีส่วนประกอบของโอเมก้า 3 ที่ลูกจะสามารถนำไปใช้ได้ โดยนมส่วนหลังจะทำให้อุจจาระของลูกเป็นสีเหลืองข้น เป็นเม็ดๆ คล้ายเม็ดมะเขือ


หากอุจจาระของลูกมีลักษณะกระปิดกระปอย เป็นฟอง อาจเป็นเพราะได้รับนมส่วนหน้ามากเกินไป อาจต้องเพิ่มเวลาในการดูดนม หรือ บีบนมส่วนหน้าออกก่อนที่จะให้ลูกดูดนม


ในกรณีที่ลูกดูดนมบ่อย ดูดเกลี้ยงเต้า หรือมีการปั๊มนมบ่อยๆ นมส่วนหลังจะขึ้นมาเป็นส่วนหน้ามากขึ้น ทำให้ทารกน้ำหนักขึ้นได้ดีขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้นมคัดตึงบ่อยๆ นมนั้นจะมีนมส่วนหน้าที่มากขึ้น ลูกอาจจะได้น้ำตาล Lactose มากเกินไป ทำให้อาจมีอาการถ่ายเหลวถ่ายบ่อยได้


อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ให้ลูกเข้าเต้าบ่อยๆ ให้ดูดในระยะเวลาที่เหมาะสมคือมากกว่า 15 นาที ลูกมักจะได้รับนมทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังอย่างเหมาะสมค่ะ


เรื่องของน้ำนมยังมีความรู้อีกมากมายที่หมอหน่อยอยากจะเล่า เอาไว้จะมาเล่าให้ทุกคนฟังใหม่ในบทความหน้านะคะ







เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)









ดู 2,582 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page