top of page

เนื้องอกมดลูกคืออะไร? มีผลต่อการมีลูกหรือไม่? (Can myoma effect your fertility?)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือบางคนเรียกว่า มดลูกโต หรือภาษาทางการแพทย์คือ Myoma uteri หรือ Leiomyomas เป็นโรคที่พบได้บ่อยอีกอย่างหนึ่งในหญิงวัยเจริญพันธุ์ แล้ว เนื้องอกมดลูกคืออะไร? เกิดจากสาเหตุไหน? อาการเป็นอย่างไร? และมีผลต่อการมีลูกอย่างไร? วันนี้ไปติดตามรายละเอียดกันค่ะ


เนื้องอกมดลูกคืออะไร?


เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก หรือ Myoma uteri เป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของกล้ามเนื้อมดลูก ก้อนเนื้อประกอบด้วยกล้ามเนื้อมดลูกเป็นหลัก เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกเป็นเนื้ออกที่พบได้บ่อยที่สุดในนารีปฎิบัติ พบได้ประมาณร้อยละ 20 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ พบได้บ่อยที่สุดช่วงอายุ 40-50 ปี สตรีอายุมากกว่า 35 ปี จะมีเนื้องอกนี้โดยไม่มีอาการอยู่ถึงร้อยละ 40-50


สาเหตุและปัจจัยว่งเสริม


เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกโตขึ้นมากจากการมิวเตชั่นของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก โดยพบว่าเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน มีส่วนในการกระตุ้นให้เกิด หรือโตขึ้นของเนื้องอก โดยพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดเนื้องอกมดลูกคือ

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม

  • เชื้อชาติ

  • ความอ้วนหรือ BMI ที่สูง จะเพิ่มความเสี่ยง (อนุมานว่ามีการเพิ่มของเอสโตรเจน)

  • โภชนาการ : การทานเนื้อวัว หมูเพิ่มความเสี่ยงขึ้น แต่ผักสีเขียวช่วยป้องกัน

  • การใช้ยาคุมกำเนิดไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก

ชนิดของเนื้องอกเรียกชื่อตามตำแหน่งที่สัมพันธ์กับผนังมดลูก แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ


1. อยู่ใต้ชั้น serosa เรียกว่า Subserous type

2. อยู่ในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก เรียกว่า Intramural type

3. ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกอยู่ใต้ชั้น mucosa เรียกว่า Sub-mucous type ชนิดนี้พบได้น้อย แต่เป็นชนิดที่มีปัญหาเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โพรงมดลูกบิดเบี้ยวไป ซึ่งอาจเป็นปัจจัยนำไปสู้ภาวะมีบุตรยากและแท้งได้


อาการ

อาการของเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกอาจแตกต่างกัน ขึ้นกับชนิด ขนาด ตำแหน่งของก้อน โดยพบว่าร้อยละ 50 ของคนที่เป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกจะไม่มีอาการเลย อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภายใน โดยการที่พบได้บ่อยของคนที่เป็นเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก คือ


1. ปัญหาเลือดออกผิดปกติ


พบได้ร้อยละ 30 ส่วนใหญ่จะเป็นการมีประจำเดือนออกมาก ออกนาน แต่อาจมีเลือดออกกระปิดประปอยในช่วงระหว่างรอบเดือนได้เช่นกัน โดยพบได้มากในเนื้องอกกลุ่ม submucous type ซึ่งอาการเลือดออกผิดปกติ อาจทำให้เกิดภาวะเลือดจางหรือขาดธาตุเหล็กตามมาได้


2. อาการปวดท้องน้อยและปัญหาก้อนในท้อง

  • ปวดถ่วงจากการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่นถ้ากดกระเพาะปัสสาวะจะปัสสาวะบ่อย

  • ปวดระดู

  • ปวดแบบบิดๆจากอาการบิดขั้ว

  • ปวดจากการติดเชื้อซ้ำซ้อน


3. ปัญหาต่อวัยเจริญพันธุ์


ภาวะมีบุตรยาก : ภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกพบได้ไม่บ่อย มักเกิดจากการที่เนื้ออกทำให้รูปร่างของโพรงมดลูกผิดปกติ และเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการแท้งได้ ก้อนเนื้อที่อยู้ใกล้บริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก อาจรบกวนการฝั่งตัวของไข่และเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก หรือหากก้อนเนื้อไปกดเบียดท่อนำไข่ อาจทำให้ท่อนำไข่ตีบหรือตันได้


ภาวะแทรกซ้อนต่อการตั้งครรภ์ : เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การแท้ง รกลอกตัวก่อนกำหนด คลอดก่อนกำหนด ทารกท่าก้น ทำให้คลอดยาก (เพิ่มอัตราผ่าคลอด) การตกเลือดหลังคลอดได้


วิธีการรักษา


1. เฝ้าสังเกตุอาการ

รายที่ไม่มีอาการเลย ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา เพียงแค่เฝ้าติดตามเป็นระยะก็เพียงพอ ให้ติดตามและตรวจภายในซ้ำทุก 6-12 เดือน ถ้าต้องการมีบุตร ก็แนะนำให้รีบตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามถ้าก้อนโตเร็วอาจต้อได้รับการประเมินใหม่


2. การรักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยามีความประสงค์เพื่อลดขนาดขอก้อนก่อนทำการผ่าตัด หรือรอเวลา หรือรายที่มีข้อห้ามในการผ่าตัด โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษาเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เช่น


- ยาคุมกำเนิด (Contraceptive agents)

Combined oral contraceptive pill

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มักใช้รักษาภาวะประจำเดือนมามากที่สัมพันธ์กับเนื้องอกมดลูก ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน แต่ไม่ลดขนาดก้อนเนื้องอกมดลูก

Progestins และ Levonorgestrel-releasing intrauterine system (IUD)

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูก ทั้งเพิ่มและลดขนาดเนื้องอก นอกจากนั้นยังลดประจำเดือนโดยการทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อด้วย


- GnRH agonists

ทำให้ผู้ป่วยไม่มีประจำเดือน อาการเลือดจางจะดีขึ้น และขนาดมดลูกจะลดลงภายใน 3 เดือนหลังการรักษา นิยมใช้ระยะสั้น 3-6 เดือนร่วมกับการให้ธาตุเหล็กเพื่อรักษาภาวะซีด และเพื่อลดขนาดก้อนมดลูกก่อนผ่าตัด


- GnRH antagonists

ให้ผลการรักษาพอๆกับ GnRH agonist แต่ตอบสนองเร็วกว่า คือลดขนาดถึงขีดสูงสุดใน 14 วัน


3. การผ่าตัด

พิจารณาผ่าตัดในรายที่มีปัญหา

  • เลือดระดูออกมาก

  • ก้อนเนื้องอกที่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง

  • มีประวัติมีบุตรยาก

  • การวินิจฉัยไม่แน่นอน เช่น แยกจากเนื้องอกรังไข่ไม่ได้

  • ก้อนโตเร็ว โดยเฉพาะวัยหมดประจำเดือน

  1. Myomectomy :ป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก ซึ่งทำในรายที่ยังต้องการมีลูก บางรายอาจใช้ยารักษาเพื่อให้ขนาดเล็กลงก่อนการผ่าตัด อย่างไรก็ตามหลังทำ myomectomy โอกาสกลับเป็นซ้ำสูงถึงร้อยละ 50 และต้องผ่าตัดซ้ำ 1 ใน 3

  2. การตัดมดลูก (Hysterectomy) : เป็นวิธีการรักษาแบบหายขาด (Definitive) พิจารณาทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ และมีบุตรเพียงพอแล้ว

เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เป็นโรคที่ต้องมีการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง สำหรับใครที่ยังต้องการมีลูก ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อร่วมกันวางแผนการรักษา โดยการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ของคนที่มี เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นๆ ดังนั้นแนะนำให้คนที่ต้องการมีลูก ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการเตรียมตัวก่อนท้อง และการบำรุงร่างกายก่อนตั้งครรภ์ เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น และให้เป็นการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยค่ะ


อ่านเพิ่มเติมเรื่องการเตรียมพร้อมตั้งครรภ์ : https://www.drnoithefamily.com/post/preparing-for-pregnancy


วิตามินบำรุง : https://www.drnoithefamily.com/products





Tantawan Prasopa (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


อ้างอิง

ธีระ ทองสง.(2555).สูติศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่5.เชียงใหม่:ลักษมีรุ่ง.


#ก้อนเนื้องอกมดลูก #เนื้องอกมดลูกคือ #อยากมีลูก #เตรียมตัวท้อง #เตรียมพร้อมตั้งครรภ์

bottom of page