top of page

โคลีน กับประโยชน์ต่อลูกน้อยในแบบที่คุณคาดไม่ถึง (Choline, Critical Role During Fetal Development)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

คุณแม่รู้จักโคลีนรึเปล่าคะ? ถ้าคุณแม่ไม่รู้จัก ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ เพราะมีคุณแม่มากมายที่ไม่รู้จักโคลีน และพลาดประโยชน์ดีๆ ของโคลีนไป แล้วโคลีนมีความสำคัญต่อทารกในครรภ์ และมีความสำคัญต่อคุณแม่ที่ท้องอยู่ยังไงบ้าง? วันนี้หมอหน่อยจะมาสรุปรายละเอียดให้ฟังค่ะ



ในช่วงก่อนท้องหรือช่วงตั้งท้องแรกๆ ทุกคนมักจะให้ความสำคัญกับโฟเลตหรือกรดโฟลิค (อ่านเพิ่มเติมเรื่องโฟเลต) ที่จะช่วยลดความผิดปกติของระบบประสาทและสมองของทารก แตในการศึกษาล่าสุด พบว่า โคลีน (Choline) เองก็มีความสำคัญในการป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทของทารกเช่นเดียวกัน(1) ดังนั้น โคลีนจึงมีความสำคัญพอๆ กับโฟเลต ตั้งแต่คุณแม่วางแผนที่จะท้องเลยทีเดียว


โคลีนสำคัญอย่างไร? ทำไมคุณแม่ถึงต้องการโคลีน?


โคลีนเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งที่พบได้ในอาหารบางชนิด โคลีนมีความสำคัญในช่วงตั้งท้องและช่วงให้นมบุตรของคุณแม่คือ


1.โคลีนช่วยในการสร้างระบบประสาทและการสร้างสมองของทารก


โคลีนมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการสร้างสมองของทารก มีความสำคัญต่อการสร้างผนังเยื่อหุ้มของระบบประสาทต่างๆ ช่วยในการสร้างสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับ การเรียนรู้ (Learning), ความจำ (memory), การสนใจ (Attention) และการมองเห็น

เช่นเดียวกันกับโฟเลต โคลีนช่วยในการสร้างของระบบประสาทตั้งแต่เริ่มต้น และช่วยในการปิดของหลอดประสาท คุณแม่ที่ขาดโคลีนก็มีโอกาสที่ทารกจะมีปัญหาเรื่องหลอดประสาทของทารกไม่ปิดเช่นเดียวกัน (Neural tube defect)


2. โคลีนช่วยในการสร้างรก


รก (Placenta) ทำหน้าที่ในการนำสารอาหารต่างๆ รวมถึงนำอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงทารกที่กำลังเติบโต รวมถึงช่วยป้องกันและกำจัดสารพิษต่างๆ จากตัวทารกด้วย ในช่วงที่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ โคลีนมีความสำคัญต่อการสร้างรก ช่วยให้รกสร้างได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยในการสร้างเส้นเลือดในรก และช่วยสนับสนุนการทำงานของรกตลอดการตั้งครรภ์ด้วย


3. ช่วยในเรื่องการพัฒนาของสมอง ความจำ


มีการศึกษาพบว่า หากทารกได้รับโคลีนในปริมาณที่เหมาะสมในช่วงอยู่ในท้องและช่วงให้นม จะทำให้ทารกเติบโตเป็นคนที่มีความจำที่ดี และลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต (2) รวมถึงลดการเกิดโรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคไบโพล่า โรคทางบุคลิคภาพ รวมถึงโรคออทิสติก เมื่อเด็กโตขึ้นด้วย




4. ช่วยในการทำงานของตับ


โคลีนช่วยให้ตับทำงานได้ดี และช่วยให้การทำงานของตับดีขึ้นได้


คุณแม่ต้องการโคลีนเท่าไหร่?


การศึกษาประชากรในอเมริกาพบว่าหญิงที่ตั้งครรภ์โดยทั่วไป ขาดโคลีนถึง 90-95% (3) เนื่องจากไม่สามารถทานจากอาหารได้เพียงพอกับความต้องการในช่วงตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตร คำแนะนำของ ACOG (American College of Obstetricians) แนะนำขนาดของโคลีนที่ควรได้คือ

  • ในหญิงตั้งครรภ์ ต้องการโคลีน 450 มิลลิกรัมต่อวัน

  • ในหญิงให้นมบุตร ต้องการโคลีน 550 มิลลิกรัมต่อวัน

ในบางงานวิจัยแนะนำให้ทานโคลีนประมาณ 900 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อประโยชน์สูงสุดเกี่ยวการทำงานของระบบประสาทของทารก ซึ่งคุณแม่อาจทานโคลีนจากอาหาร ร่วมกับการทานด้วยวิตามินเสริม โดยไม่ต้องกังวลว่าโคลีนจะเกินเนื่องจากขนาดของโคลีนที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวันสูงถึง 7 กรัม หรือ 7,000 มิลลิกรัมซึ่งโอกาสรับเกินเป็นไปได้ยาก


โคลีนอยู่ในอาหารชนิดไหนบ้าง?


โคลีนพบได้ในอาหารหลายชนิด โดยเฉพาะในไข่ ซึ่งไข่แดงขนาดใหญ่จะมีโคลีนอยู่ประมาณ 150 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังพบโคลีนใน เนื้อ ไก่ ปลา แซลมอล รวมถึงตับด้วย แม้ว่าจะพบโคลีนในอาหารหลายชนิด แต่พบว่า 90% ของคนท้อง ไม่สามารถทานโคลีนได้เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน


คุณจะทานโคลีนเสริมจากไหนได้บ้าง?


แม้โคลีนจะมีความสำคัญในช่วงตั้งครรภ์มาก และวิตามินก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ (Prenatal vitamins) โดยทั่วไปมักไม่มีโคลีนผสมอยู่ สาเหตุเนื่องมากจาก เป็นเรื่องยากที่จะผสมโคลีนได้ในวิตามินรวม แม้ผสมได้ก็มีปริมาณไม่มากนัก จึงแนะนำให้ทานวิตามินโคลีนเสริมต่างหาก เพื่อให้ได้รับโคลีนอย่างเพียงพอเสริมจากอาหารที่ทาน ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ไปจนให้นมบุตร

วิตามินโคลีนที่แนะนำ : Click



ควรเริ่มทานโคลีนเมื่อไหร่ และทานถึงตอนไหน?


เนื่องจากโคลีนมีความสำคัญเกี่ยวกับปิดของระบบประสาท (Neural tube) ซึ่งระบบประสาทจะปิดประมาณ 4 สัปดาห์หลังตัวอ่อนปฏิสนธิ หรือประมาณช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะก่อนที่คุณแม่จะรู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้น คุณแม่ควรเริ่มทานตั้งแต่ก่อนเริ่มท้องเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้ายังไม่เริ่มทานก็ควรทานให้เร็วที่สุดหลังจากทราบว่าตั้งครรภ์ เนื่องจากจะได้ช่วยในการสร้างระบบประสาท สร้างรก และการพัฒนาต่างๆ ของทารก และควรทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดการตั้งครรภ์


ประโยชน์ของโคลีน โคลีนกับคนท้อง


จากบทความนี้เชื่อว่า แม่ๆ หลายคนคงเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของโคลีนมากขึ้นนะคะ หมอหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ค่ะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้านะคะ







เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD) drnoithefamily


#โคลีนกับสมองเด็ก #อยากให้ลูกฉลาดต้องกินอะไร #โคลีนบำรุงสมองเด็ก #วิตามินบำรุงสมองทารก #วิตามินบำรุงสมองเด็ก

bottom of page