หลายคนบอกว่า สำหรับคุณแม่ที่ให้นมแม่แล้ว เครื่องปั๊มนม เสมือนเป็นเป็นอวัยวะที่ 33 เลยทีเดียว เพราะ เครื่องปั๊มนมอาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่ทำให้ความตั้งใจในการให้นมแม่ เป็นความจริงได้ง่ายขึ้น แต่คุณแม่จะมีวิธีการในการเลือกเครื่องปั๊มนมอย่างไร? เลือกกรวยปั๊มนมอย่างไร? เครื่องปั๊มนมแบบได้เหมาะกับคุณแม่ วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
เครื่องปั๊มนมเหมาะกับใคร?
แน่นอนว่า เครื่องปั๊มนม อาจไม่ใช่สิ่งที่แม่ทุกคนต้องมี เนื่องจากในบางคน สามารถเลี้ยงลูกได้ด้วยตัวเอง สามารถให้นมลูกได้ตลอดจนหยุดให้นม หรือบางคนก็เลือกที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมผง จึงไม่จำเป็นต้องมีเครื่องปั๊มนมไว้ใช้
แต่สำหรับคุณแม่ที่วางแผนจะให้นมแม่ และมีความจำเป็นต้องกลับไปทำงาน ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอด เครื่องปั๊มนม อาจเป็นอุปกรณ์แรกๆ ที่คุณแม่ควรหาข้อมูล ซึ่งจากประสบการณ์ของหมอแล้ว เครื่องปั๊มนม มีประโยชน์ในการกระตุ้นน้ำนมตั้งแต่ช่วงอยู่โรงพยาบาลหลังคลอดเลยทีเดียว
เครื่องปั๊มนมมีแบบไหนบ้าง?น
เครื่องปั๊มนมมีหลายแบบ
เครื่องปั๊มแบบมือ (Manual) หรือ เครื่องปั๊มแบบอัตโนมัติ
เครื่องปั๊มนมแบบข้างเดียว หรือ เครื่องปั๊มนมแบบสองข้าง
เครื่องปั๊มแบบมือ (Manual)
มีราคาประหยัด อุปกรณ์ไม่มาก ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ ไม่ต้องชาร์ตไฟ
เสียงเบา
คุณแม่สามารถควบคุมความแรงของการปั๊มได้ด้วยตัวเอง
ทำได้ทีละข้าง ไม่สามารถปั๊มขณะที่ให้นมได้
อาจระบายน้ำนมได้ไม่หมด ต้องบีบมือช่วยด้วย
เหมาะกับ : คุณแม่ที่ไม่เน้นการปั๊มนมมากนัก ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากราคาแค่หลักร้อยเท่านั้น ทั้งความสะดวกในแง่ของการไม่ต้องชาร์ตไฟ และสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ในช่วงปั๊มนม
เครื่องปั๊มนมแบบอัตโนมัติ
เป็นเครื่องปั๊มนมอัตโนมัติ ใช้งานง่าย ปั๊มได้รวดเร็วไม่ต้องออกแรงปั๊ม
ใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรีในการทำงาน ไม่ต้องออกแรงด้วยมือ
มีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย เช่น โหมดกระตุ้นน้ำนม โหมดปั๊มนม
สามารถปรับความแรงของการปั๊มนมได้
ถ้ามีแบตเตอรีในตัว จะสามารถพกพาออกไปปั๊มนอกบ้านได้
ราคาเครื่องปั๊มนมมีตั้งแต่หลักพัน จนถึงหลักหมื่น
เหมาะกับ : คุณแม่ที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการปั๊มนม ไม่ต้องออกแรง ทำงานได้หลาย Function อาจสามารถปั๊มพร้อมกัน 2 ข้าง หรือปั๊มระหว่างการให้นมลูกได้ สามารถปั๊มนมในช่วงที่นั่งทำงาน หรือช่วงที่พักผ่อนได้
ความแตกต่างระหว่างเครื่องปั๊มนมแบบ 1 มอเตอร์ และ 2 มอเตอร์คือ
เครื่องปั๊มนมแบบ 1 มอเตอร์ จะออกแรงดูดเท่ากันทั้งสองข้าง และทำงานในโหมดเดียวกันทั้ง 2 ข้าง ในขณะที่เครื่องปั๊มนมแบบ 2 มอเตอร์ จะสามารถปรับลดหรือเพิ่มแรงดูดให้แตกต่างกันได้ เช่น หากด้านหนึ่งมีปัญหาเจ็บหรือหัวนมแตก สามารถที่จะลดแรงดูด ให้ขณะที่อีกข้างยังสามารถดูดในความแรงที่ปกติได้ เป็นต้น
เทคนิคในการเลือกซื้อเครื่องปั๊มนม
มีจังหวะการปั๊มเลียนแบบการดูดของทารก ปกติแล้วเครื่องปั๊มที่ใกล้เคียงการดูดของทารกในช่วง 6-12 สัปดาห์ จะต้องมีแรงดูดอย่างน้อย 200-250 mmHg และรอบการดูดอย่างน้อย 40-60 รอบต่อนาที หากคุณแม่จำเป็นต้องปั๊มนมนานกว่า 4 เดือนขึ้นไป ควรเลือกเครื่องปั๊มนมที่มีรอบดูดมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป จะทำให้ปั๊มนมออกได้มากกว่า
เลือกเครื่องปั๊มนมให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งเครื่องปั๊มนมอัตโนมัติชนิดปั๊มได้ครั้งละ 2 ข้าง จะสะดวกและรวดเร็วกว่า ทนทานกว่า และกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนโปรแลกตินได้มากกว่า เครื่องปั๊มนมที่สามารถปั๊มนมพร้อมกัน 2 ข้างได้ พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้มากขึ้นถึง 18%(1) แต่หากคุณแม่เน้นให้ลูกดูดจากเต้า ไม่ได้ใช้เครื่องปั๊มนมบ่อย สามารถเลือกเครื่องปั๊มนมแบบใช้มือที่ราคาไม่แพงเท่าเครื่องปั๊มนมอัตโนมัติเพื่อเป็นการประหยัด
เลือกชนิดที่ใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำความสะอาดง่าย
เลือกแบบที่กรวยมีขนาดพอดีกับเต้านม จะทำให้คุณแม่รู้สึกสบาย ไม่เจ็บหัวนมหรือทำให้ผิวหนังถลอกขณะใช้
เสียงไม่ดัง ควรเลือกเครื่องปั๊มนมชนิดที่เสียงไม่ดังรบกวนลูกขณะนอนหลับหรือรบกวนคนข้างๆ กรณีที่ต้องปั๊มนอกบ้าน
สามารถพกพาไปใช้งานนอกบ้านได้ กรณีที่ต้องไปธุระนอกบ้าน เครื่องปั๊มนมที่มีแบตเตอรีในตัว จะทำให้สะดวกในการพกพาออกไปนอกบ้านได้ และควรเลือกที่มีน้ำหนักเบาเพื่อความสะดวกในการพกพา
ราคาเหมาะสม มีบริการหลังการขายและการรับประกันสินค้า
เทคนิคในการเลือกกรวยปั๊มให้ได้ขนาดที่เหมาะสม
การเลือกกรวยปั๊มนมให้พอดีกับหัวนมเป็นสิ่งที่มีผลต่อการปั๊มนมเป็นอย่างมาก หากกรวยปั๊มเล็กเกินไป จะทำให้เจ็บหัวนม ซึ่งเกิดจากการที่หัวนมแน่นเต็มกรวยปั๊ม ทำให้เจ็บและปั๊มไม่สบาย หากกรวยใหญ่เกินไปจะดูดเอาลานนมเข้าไปด้วย ลานนมอาจจะถลอกเป็นแผล และอาจจะปั๊มไม่เกลี้ยงเต้า หรือปั๊มนมไม่ออก ดังนั้น ขนาดของกรวยปั๊มจึงมีผลต่อประสิทธิภาพของการปั๊มนม
การเลือกขนาดของกรวยปั๊มจะใช้ขนาดของหัวนม เป็นตัวแนะนำในการเลือกขนาด โดยควรวัดขนาดหัวนมในช่วงหลังคลอด เนื่องจากหัวนมอาจขยายเพิ่มขึ้นในช่วงหลังคลอด การวัดจะวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของหัวนม วัดเป็นมิลลิเมตร (ไม่ใช่วัดขนาดลานหัวนม) และเลือกขนาดกรวยให้เหมาะสมดังนี้
< 17 mm : กรวยขนาด 21 mm
17 to 21 mm: กรวยขนาด 24 mm
21 to 25 mm: กรวยขนาด 27 หรือ 28 mm
25 to 29 mm: กรวยขนาด 30 หรือ 32 mm
29 to 32 mm: กรวยขนาด 36 mm
หากขนาดของกรวยเหมาะสม หัวนมจะอยู่ตรงกลางและสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ดังภาพ
เมื่อไหร่ที่คิดว่าจะต้องเปลี่ยนขนาดกรวย
1. หัวนมชนกรวยด้านใน ควรเปลี่ยนให้กรวยเล็กลง
2. ลานนมเข้าไปในกรวยเยอะ ควรเปลี่ยนให้กรวยเล็กลง
3. หลังปั๊มเสร็จหัวนมแดงหรือมีแผลบ่อยๆ ควรเปลี่ยนกรวยให้ใหญ่ขึ้น
4. เมื่อปั๊มเสร็จแล้วรู้สึกว่าน้ำนมไม่เกลี้ยงเต้า
กล่าวโดยสรุป
เครื่องปั๊มนม เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้การให้นมแม่นั้นประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น แต่ควรเลือกเครื่องปั๊มนม และกรวยปั๊มนมให้เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้การปั๊มนมเป็นเรื่องง่ายและมีความสุขค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD)
Comments