top of page

ท่อน้ำนมอุดตัน แก้ไขและป้องกันอย่างไร (How to Relieve Clogged Milk Ducts)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในการให้นมลูก โดยเฉพาะในช่วงแรกคือ ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน สร้างความเจ็บปวดและทำให้การให้นมลูกลำบากยิ่งขึ้น ซึ่งหมอหน่อยเองก็เคยประสบปัญหาท่อน้ำนมอุดตันมาก่อนเช่นกัน วันนี้จึงมาแชร์ความรู้ และเทคนิคการแก้ไขและป้องกันอาการท่อน้ำนมอุดตันค่ะ


ท่อน้ำนมอุดตันคืออะไร?


ปกติท่อน้ำนมจะมีลักษณะคล้ายท่อน้ำ ที่ลำเลียงน้ำนมเพื่อระบายออกมา แต่ถ้าเกิดมีการอุดตันในท่อ ก็จะส่งผลให้การไหลไม่ดีขึ้น อาจมีลักษณะเป็นก้อน หรือมีอาการบวมแดงได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นครั้งละ 1 ข้าง


อาการที่พบได้บ่อย

  • มีก้อนที่เต้านม

  • เต้านมคัดตึง

  • เจ็บที่เต้านม หรือก้อนเต้านม

  • น้ำนมด้านที่เป็นไหลน้อยลง

  • อาจมี white dot หรือจุดสีขาวที่บริเวณหัวนมด้านที่เป็น

  • รู้สึกปวดเมื่อลูกดูดนมอีกข้าง หรือเมื่อ Letdown

  • อาจมีอาการบวม แดง ร้อน ได้

สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน


อาการท่อน้ำนมอุดตัน มักจะมีสาเหตุหลักมาจากการที่น้ำนมไม่ถูกระบายออกเท่าที่ควรจะเป็น หรือน้ำนมข้นมากเกินไปทำให้น้ำนมไหลได้ไม่ดี ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ

  • ลูกดูดน้ำนมไม่ดี หรือเข้าเต้ายังไม่ดี ทำให้น้ำนมไม่สามารถระบายออกได้ และลูกเองก็อาจได้น้ำนมไม่เพียงพอ

  • ตกรอบปั๊ม หรือ ข้ามมื้อให้นมนานจนเกินไป ซึ่งมักจะพบได้บ่อยเมื่อคุณแม่กลับไปทำงาน ทำให้ไม่สามารถปั๊มระบายตามรอบได้ หรือ ลูกเปลี่ยนเวลานอนหรือนอนยาวขึ้น ทำให้ไม่ได้ระบายน้ำนมเป็นเวลานาน

  • ใส่เสื้อผ้าที่รัดบริเวณหน้าอกจนเกินไป ทำให้น้ำนมไหลได้ไม่ดี เกิดการอุดตันได้

  • ทานอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้น้ำนมไหลได้ไม่ดีเพราะน้ำนมมีความหนืดมากขึ้น

  • ลูกอยู่ใน NICU ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถให้นมลูกตามปกติได้

แก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันยังไง?


แม้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันจะสามารถเจอได้บ่อย แต่ข่าวดีก็คือ คุณแม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวเองที่บ้าน โดยอาจยังไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เทคนิคในการแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน คือ

  • ให้ลูกดูดนม ลูกคือคนที่จะช่วยคุณแม่ได้ดีที่สุด เนื่องจากแรงดูดของลูกดีกว่าเครื่องปั๊มนมยี่ห้อไหนๆ โดยสามารถให้ลูกดูดนมในด้านที่มีปัญหาท่อตัน (ลูกยังสามารถทานนมได้ปกติ) โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกหิวจัด เนื่องจากจะสามารถช่วยระบายก้อนที่อุดตันนั้นได้

  • ประคบอุ่น อาจใช้ตัวประคบอุ่นบริเวณที่เป็นก่อนให้ลูกดูด หรือก่อนการปั๊มนม ซึ่งความร้อนจะช่วยให้น้ำนมได้รับการระบายที่ดีขึ้น อีกหนึ่งเทคนิคคือการอาบน้ำอุ่นโดยให้น้ำอุ่นไหลผ่านหน้าอกบริเวณที่เป็น

  • ปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า กรณีที่ให้ลูกดูดไปแล้วแต่เหมือนน้ำนมยังค้างเต้าอยู่ ควรให้เครื่องปั๊มนมดูดต่อจนรู้สึกว่านมเกลี้ยงเต้า ในกรณีที่เป็นคุณแม่นักปั๊ม อาจต้องเลือกการทำงานของเครื่องปั๊มนมให้สามารถปั๊มนมออกมาให้เกลี้ยงเต้าได้

  • ใช้มือบีบน้ำนมออกมา เป็นอีก 1 วิธีในการเคลียร์เต้านมให้เกลี้ยงเต้าหลังให้ลูกดูด หรือหลังให้เครื่องปั๊มนม

  • ใช้มือนวดบริเวณที่เป็น โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกดูดนม หรือช่วงที่ใช้เครื่องปั๊มนม

  • เปลี่ยนท่าทาง ท่าที่ได้ผลในการระบายท่อน้ำนมที่อุดตันคือ ให้ลูกดูดนมโดยให้คางและจมูกของลูกกดไล่บริเวณที่อุดตัน อาจจะช่วยระบายน้ำนมได้

แม้ว่าโดยส่วนใหญ่คุณแม่จะสามารถแก้ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้ด้วยตัวเอง แต่หากมีการอุดตันเป็นเวลาหลายวันจนเต้านมบวมแดง หรือก้อนใหญ่ขึ้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิด ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) ได้ ซึ่งภาวะเต้านมอักเสบนี้ เต้านมจะ บวม แดง ร้อน ชัดเจน รวมถึงอาจมีไข้ หนาวสั่นร่วมด้วยค่ะ


เทคนิคป้องกันท่อน้ำนมอุดตัน


คุณแม่บางคนมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันได้บ่อย แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็มีวิธีที่จะลดการเกิดได้คือ

  • ให้นมบ่อยๆ การให้นมบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการระบายน้ำนม หากคุณแม่สามารถเข้าเต้าได้ ก็ควรต้องปั๊มให้สม่ำเสมอทุก 2-3 ชั่วโมงเช่นกัน

  • ระบายน้ำนมให้เกลี้ยงเต้า โดยควรให้ลูกดูดให้เกลี้ยงเต้า หรือปั๊มนมออกหลังลูกดูดให้เกลี้ยง หรือใช้มือบีบนมออกให้เกลี้ยงเต้า

  • อย่าใส่เสื้อชั้นในหรือเสื้อที่คับเกินไป เพราะอาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตันได้

  • เปลี่ยนข้างให้นมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้น้ำนมได้รับการระบายที่ใกล้เคียงกัน

  • ทาน Lecithin วิติมินกลุ่ม Lecithin มีประโยชน์ในการช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น หนืดลดลง จึงอาจมีประโยชน์ต่อคุณแม่ที่มีปัญหาท่อนมตันบ่อยๆ ซึ่งวิตามิน Lecithin ปลอดภัยในช่วงให้นม

  • ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม หากยังมีปัญหาท่อน้ำนมตันบ่อยๆ เนื่องจาก อาจมีสาเหตุมาจากการระบายน้ำนมที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือ ลูกเข้าเต้าได้ไม่ดี

หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้คุณแม่รับมือกับปัญหาท่อนมตันได้นะคะ หมอหน่อยเองก็ยังมีอาการท่อนมตันนานๆ ครั้ง ที่ไม่สามารถปั๊มนมได้เนื่องจากติดงาน แต่พอกลับบ้านไป ตัวเล็กก็สามารถช่วยระบายได้เป็นอย่างดีค่ะ


แล้วมาเจอกันได้ใหม่ในบทความหน้านะคะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)









ดู 4,482 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page