top of page

Intermittent Fasting มีผลต่อการมีลูกหรือไม่? (Intermittent Fasting and fertility)

ใครที่กำลังลดน้ำหนักอาจคุ้นเคยกับวิธีการทำ Intermittent Fasting ซึ่งเชื่อว่าช่วยให้ลดน้ำหนักได้ผลดี แต่การทำ Intermittent Fasting ปลอดภัยต่อคนที่กำลังวางแผนอยากจะท้องหรือไม่? แล้วส่งผลต่อการมีลูกหรือไม่? วันนี้ไปหาคำตอบกันค่ะ



Intermittent Fasting คืออะไร?


Intermittent Fasting หรือ IF เป็น Pattern ของการกินอาหาร โดยจะมีช่วงที่กินอาหาร และช่วงที่อดอาหาร โดยเชื่อว่า ช่วงเวลาของการกินอาหารมีความสำคัญ มีการศึกษาพบว่าการทำ IF มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น

  • กระตุ้น Growth Hormone ในช่วงที่เรา Fasting ร่างกายจะกระตุ้นการหลั่งของ Growth hormone มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดการสะสมของไขมันและช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ

  • เพิ่ม Insulin sensitivity ทำให้ cell ตอบสนองต่อ Insulin ดีขึ้น ลดภาวะ Insulin resistance

  • Cellular repair ในช่วงที่ fasting ร่างกายจะเกิดการซ่อมแซม cell ต่างๆ ที่กำลังเสียหาย

  • ช่วยในการลดน้ำหนัก IF ช่วยลดน้ำหนักจากทั้งการลดปริมาณแคลอรี่ที่ทานต่อวัน และการเผาผลาญไขมันมากขึ้นจากการเพิ่มการหลั่งของ Growth hormone, ลดภาวะ Insulin resistance ทำให้น้ำหนักลดลงและลดไขมันหน้าท้อง

  • ลดภาวะการอักเสบ (Inflammation) การทำ IF ช่วยลดการอักเสบ และลดการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ

  • ช่วยเรื่องสมอง (Brain health) ทำให้สมองทำงานดีขึ้น ลดภาวะความจำเสื่อมได้

ขั้นตอนการทำ IF มีหลายแบบ เช่น 16/8 การอดอาหาร 16 ชั่วโมง กินอีก 8 ชั่วโมง หรือ แบบ 18/6 คืออดอาหาร 18 ชั่วโมง กิน 6 ชั่วโมง หรือการอดอาหารต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์


Intermittent Fasting มีผลต่อการมีลูกหรือไม่?


การทำ Intermittent Fasting อาจส่งผลในทางลบต่อคนที่กำลังอยากมีลูก หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากการที่ฮอร์โมนเพศที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่จะทำงานได้ดี ต้องได้รับพลังงานจากอาหารอย่างเพียงพอ และมีระดับไขมันที่เหมาะสม หากเรากำลังอยู่ในภาวะเครียด เช่น

  • งดอาหารอย่างหนัก

  • ออกกำลังกายอย่างหนัก

  • ลดน้ำหนักอย่างหนัก

ร่างกายจะคิดว่าร่างกายอยู่ในภาวะอันตราย (Danger) ร่างกายจะลดการทำงานของฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone ทำให้ไข่ไม่ตก หรือประจำเดือนผิดปกติได้ ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในการมีลูกยากขึ้น ทั้งยังมีการศึกษาผลของการทำ IF ในหนูเพศเมีย พบว่าการทำ IF กดการทำงานของฮอร์โมนเพศ ทั้งยังทำให้ขนาดของไข่ในหนูเล็กลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนในผลเสียของการทำ IF ต่อการมีลูก

“การทำ Intermittent Fasting อาจไม่เหมาะสมในขณะที่พยายามจะมีลูก เนื่องจากอาจได้รับพลังงานไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำงานของฮอร์โมนเพศที่เกี่ยวเนื่องกับการตกไข่”

Intermittent Fasting กับภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Intermittent Fasting and PCOS)


แม้ว่าการทำ IF ไม่ได้มีประโยชน์ในคนทั่วไปที่กำลังอยากมีลูก ทั้งยังอาจมีผลในแง่ลบกระทบการตกไข่ อย่างไรก็ตามบางงานวิจัยได้พูดถึงการทำ Intermittent Fasting ว่าอาจเกิดประโยชน์ในคนที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ PCOS ในแง่ของ

  • การทำ IF ช่วยให้ลดน้ำหนักได้ดีในคนที่เป็น PCOS และมีผลช่วยในไข่กลับมาตกได้ปกติ และทำให้ประจำเดือนมาตามปกติได้

  • ช่วยลดภาวะ Insulin resistance ในคนที่เป็น PCOS ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนต่างๆในคนที่เป็น PCOS เมื่อภาวะ Insulin resistance ดีขึ้นทำให้การทำงานของฮอร์โมนต่างๆในคนที่เป็น PCOS ดีขึ้น ช่วยให้ลดน้ำหนักได้สำเร็จ ไข่กลับมาตกปกติ

ในกรณีคนไข้ PCOS สามารถลดน้ำหนักและลดภาวะ Insulin resistance ได้สำเร็จจะช่วยทำให้ไข่ตกได้ดีมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีงานวิจัยรองรับเรื่องของการทำ IF กับการมีบุตรของคนที่เป็น PCOS


กล่าวโดยสรุปคือ การทำ Intermittent Fasting อาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ แต่อาจมีผลดีในเรื่องการลดน้ำหนักของคนที่เป็น PCOS แต่หากลดน้ำหนักสำเร็จแล้วไข่กลับมาตกควรหยุดทำ IF โดยให้ปรับปรุง lifestyle เป็นหลัก และไม่ควรทำ IF ขณะที่ตั้งครรภ์ หากใครที่พยายามลดน้ำหนักในตอนนี้ แนะนำให้เน้นเรื่องการควบคุมปริมาณอาหาร เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แทนการอดอาหารเป็นเวลานานๆ ค่ะ


Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#drnoithefamily #IF #intermittentfasting #PCOS #fertility #pregnancy #อยากมีลูก #เตรียมตัวท้อง #เตรียมพร้อมตั้งครรภ์ #เตรียมตัวมีลูก #ความรู้สุขภาพ #ลดน้ำหนัก


ดู 3,893 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page