top of page

IUI คืออะไร? ช่วยให้มีลูกสำเร็จได้อย่างไร? (Intra Uterine Insemination)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

เมื่อคุณได้พยายามมีลูกเองมาซักระยะหนึ่งแล้ว แต่ต้องเจอปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการมีลูก อาจถึงเวลาที่ต้องขอความช่วยเหลือจากคุณหมอแล้วล่ะค่ะ วิธีการหนึ่งที่ใกล้เคียงกับกระบวนการตามธรรมชาติ เพียงแค่ต้องการความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆ จากคุณหมอ คือการทำ IUI การทำ IUI คืออะไร? ใครควรทำ IUI? ขั้นตอนการทำ IUI เป็นอย่างไร? วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ IUI กันค่ะ


การคัดแยกเชื้ออสุจิเพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก (IUI : Intra Uterine Insemination) คืออะไร?


ตามธรรมชาติแล้ว สเปิร์มต้องเดินทางผ่านช่องคลอด เข้าไปที่ปากมดลูก ผ่านมดลูก ไปที่ท่อนำไข่ เพื่อรอผสมกับไข่ ซึ่งต้องใช้เวลา มีความเสี่ยงที่สเปิร์มจะทำภาระกิจไม่สำเร็จ


การทำ IUI เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างหนึ่ง โดยการคัดแยกสเปิร์มที่แข็งแรง แล้วฉีดผ่านท่อเล็กๆ เข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง ในช่วงเวลาที่ไข่ใกล้ตก เพื่อช่วยให้สเปิร์มเดินทางไปที่ท่อนำไข่ และผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสการเกิดความสำเร็จของการตั้งครรภ์ด้วยวิธีธรรมชาติ


โดยทั่วไปความสำเร็จของการทำ IUI จะมีมากกว่าวิธีธรรมชาติประมาณ 3-5 เท่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น คุณภาพของไข่ คุณภาพของสเปิร์ม ท่อนำไข่ รวมถึงเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย


IUI ประโยชน์กับใคร (Who does IUI help?)


IUI ถือว่าเป็นการรักษาภาวะมีบุตรยาก ที่เป็น non-invasive ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก แบบ IVF หรือ ICSI ในบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ทำ IUI ก่อนที่จะทำ IVF หรือ ICSI ซึ่งการทำ IUI เหมาะกับ

  • ไม่สามารถหาสาเหตุมีบุตรยากได้ เช่น มดลูกดี ท่อนำไข่ดี สเปิร์มดี (unexplained infertility)

  • เป็น Endometriosis แบบไม่รุนแรง

  • มีปัญหาเรื่องของปากมดลูก หรือสภาพแวดล้อมบริเวณช่องคลอดไม่ดีต่อสเปิร์ม

  • ปริมาณสเปิร์มน้อย หรือเคลื่อนที่ไม่ดี

  • มีปัญหาเรื่องการหลั่งอสุจิของฝ่ายชาย

  • คู่รักเพศเดียวกัน เนื่องจากสามารถใช้ Sperm donor ได้

  • มีปัญหาเรื่องการตกไข่ เช่น PCOS

อย่างไรก็ตาม IUI อาจไม่ได้มีประโยชน์กับ

  • มีปัญหา Endometriosis แบบรุนแรง

  • มีผังผืดหรือการติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน

  • มีปัญหาท่อนำไข่ตีบตันทั้ง 2 ข้าง หรือมีปัญหาอื่นๆของท่อนำไข่

  • ฝ่ายชายไม่สามารถผลิตสเปิร์มได้เพียงพอ หรือ น้อยกว่า 1 ล้านตัว หรือไม่สามารถหลั่งอสุจิได้

  • เคยทำมาแล้ว 4-6 รอบแต่ยังไม่สำเร็จ

ขั้นตอนการทำ IUI

การทำ IUI เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างนึงที่ painless และ non-invasive บางครั้ง แพทย์อาจเลือกทำให้ช่วงรอบการตกไข่ปกติ หรือ “natural cycle” การไม่มีการใช้ยาใดๆ หรือแพทย์อาจมีการใช้ยา เพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกร่วมด้วย ซึ่งยาที่ใช้บ่อย คือ clomiphene citrate (Clomid), hCG (human Chorionic Gonadotropin) และ FSH (follicle stimulating hormone) ซึ่งการใช้ยา หรือขั้นตอนในการรักษาด้วย IUI อาจแตกต่างกัยแล้วโรงพยาบาลหรือคลินิคที่ทำ ซึ่งขั้นตอนโดยคร่าวๆคือ


การเตรียมตัวก่อนทำ


ทั้งชายและหญิงควรดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่ดี ทานวิตามินบำรุงไข่ บำรุงสเปิร์ม พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ เพื่อให้ผลของการรักษามีโอกาสสำเร็จมากขึ้น โดยข้อมูลต่างๆ เหล่านี้สามารถศึกษาได้ในบทความเก่าๆที่หมอเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้เลยนะคะ





ขั้นตอนและการทำ IUI


  • คุณอาจต้องได้รับการตรวจเลือด ตรวจ ultrasound และคำแนะนำในการทานยา รวมถึงขึ้นตอนในการทำ

  • แพทย์อาจให้ยากระตุ้นไข่โดยการทานหรือฉีด โดยเริ่มยาช่วงวันที่ 3-5 ของรอบเดือน ใช้ยาติดต่อกัน 5 วัน เพื่อให้ฟองไข่เจริญเติบโตและมีจำนวนพอเหมาะ ประมาณ 1-3 ฟองต่อรอบการทำ

  • หลังจากทานยากระตุ้นไข่ แพทย์อาจนัดเพื่อ ultrasound หรือเจาะเลือด เพื่อดูการเติบโตของไข่

  • เมื่อมีไข่ที่โตได้ขนาด 18-20 เซนติเมตร แพทย์อาจให้ยาเพื่อชักนำให้ไข่ตก หลังฉีดยา ไข่มักจะตกใน 35-40 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วง 10-16 วัน หลังจากที่ทานยากระตุ้นไข่

  • ฝ่ายชายจะทำการเก็บน้ำอสุจิ ในวันที่จะทำ IUI โดยขั้นตอนการเตรียมตัว ไม่แตกต่างจากการตรวจสเปิร์ม (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการตรวจน้ำอสุจิ)

  • น้ำอสุจิจะถูกส่งเข้าห้อง Lab เพื่อทำการปั่น ล้าง เหลือสเปิร์มมีคุณภาพ กำจัดส่วนประกอบที่อาจระคายเคืองต่อมดลูก

  • หลังจากได้สเปิร์มคุณภาพที่ถูกแยกออกมา ก็เป็นขั้นตอนของการฉีดสเปิร์มเข้าสู่โพรงมดลูก

  • ฝ่ายหญิงจะนอนบนเตียง คล้ายการตรวจภายใน ไม่ต้องใช้ยานอนหลับหรือยาสลบ

  • แพทย์จะใส่สายเล็กๆ ที่ต่อกับหลอดฉีดสเปิร์ม เข้าไปในปากมดลูก แล้วฉีดสเปิร์ม ให้ใกล้ปากเปิดสู่ท่อนำไข่มากที่สุด

  • หลังจากการฉีดสเปิร์มเข้าไปในมดลูก คุณควรนอนราบอยู่ที่เตียงประมาณ 10-30 นาที

  • แพทย์อาจให้ยาเสริมการทำงานของเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น

  • ประมาณ 2 สัปดาห์หลังทำ แพทย์จะนัดตรวจการตั้งครรภ์

หลังการทำ IUI คุณอาจรู้ไม่สบายตัวเล็กน้อย อาจมีอาการปวดท้องน้อยได้ อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดได้หลังทำ IUI




โอกาสประสบความสำเร็จ


โอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์หลังการทำ IUI ประมาณ 15-20% ต่อรอบการทำ IUI ซึ่งมากกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ 3-5 เท่า ซึ่งโอกาสประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับอายุ ปัญหามีบุตรยากเดิม คุณภาพไข่ คุณภาพสเปิร์ม จำนวนไข่ที่ตกในรอบนั้นๆ โดยส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์เดี่ยว แต่มีเพิ่มโอกาสท้องแฝดมากขึ้น 10-15% ความสำเร็จในการทำจะลดลงตามอายุของมารดาที่มากขึ้น


หากคุณทำ IUI แล้วยังไม่สำเร็จใน 3-6 รอบ อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจาณา เปลี่ยนรูปแบบการรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นแบบอื่น เช่น IVF หรือ ICSI เนื่องจากการทำ IUI อาจไม่ได้ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยากนี้ได้ตรงจุด

ข้อดีของการทำ IUI

  • การฉีดเชื้อช่วยเพิ่มจำนวนตัวเชื้อ ที่จะว่ายขึ้นไปถึงท่อนำไข่ ได้มากขึ้น เพราะธรรมชาติ เชื้อส่วนใหญ่ตายที่บริเวณช่องคลอด

  • มีการปั่นแยกเพื่อช่วยคัดเลือก ลักษณะเชื้ออสุจิที่คุณภาพดี ทำให้โอกาสปฏิสนธิได้มากขึ้น

  • ลดระยะทางการว่าย ของเชื้อให้ขึ้นไปที่ท่อนำไข่ได้เร็วขึ้น เนื่องจากฉีดเชื้อ เข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง

  • จากฉีดเชื้อตรงกับวันที่ไข่ตก ทำให้เพิ่มโอกาส การปฏิสนธิมากขึ้น

  • รอบฉีดเชื้อ จะมีการให้กินยา หรือยาฉีดกระตุ้น เพื่อเพิ่มจำนวนฟองไข่ ส่วนใหญ่ได้จำนวนฟองไข่ มากกว่ารอบธรรมชาติ ซึ่งมีเพียงใบเดียว ดังนั้น เมื่อมีจำนวนไข่มากขึ้น โอกาสที่จะท้องจึงมากขึ้นด้วย และมีโอกาสท้องแฝดมากขึ้นด้วย

  • กำหนดการตกไข่ได้แม่นยำ เนื่องจากให้ยาช่วยทำให้ตกไข่ พร้อมกับฉีดเชื้อ ในช่วงที่เหมาะสม จึงทำให้โอกาสไข่ถูกผสมมากขึ้น

  • รอบที่ฉีดเชื้อ จะมีการอัลตราซาวด์ ติดตามความหนาของเยื้อบุด้วย หากพบความหนาไม่เหมาะสม ก็จะช่วยแก้ไขให้ดีขึ้น จึงทำให้ตั้งครรภ์สำเร็จสูงขึ้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ จากการฉีดเชื้อสูงขึ้น กว่าวิธีธรรมชาติ


จะเห็นว่า การทำ IUI มีขั้นตอนการทำที่เลียนแบบกระบวนการทางธรรมชาติ การทำไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องวางยาสลบ และมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการปล่อยธรรมชาติทั่วไป ที่สำคัญราคาไม่แพงด้วยค่ะ อาจเป็นตัวช่วยเริ่มต้นของคนที่มีปัญหามีบุตรยากอยู่ขณะนี้นะคะ หมอหวังว่า บทความนี้คงมีประโยชน์ต่อทุกคนไม่มากก็น้อย แล้วมาติดตามกับใหม่ในบทความหน้านะคะ


วิตามินสำหรับเตรียมพร้อมทำ IUI : https://www.drnoithefamily.com/products


เขียนโดย

Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily




#IUI #ทำIUI #ขั้นตอนการทำIUI #วิธีการทำIUI #IUIคืออะไร #ภาวะมีบุตรยาก #รักษาภาวะมีบุตรยาก

#ทำiui #การทำiuiราคา #อาการหลังทำiui #การทำiuiให้สำเร็จ #ฉีดเชื้อiui #การเตรียมก่อนทำiui #ทำiuiที่ไหนดี

bottom of page