top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

อาการผิดปกติที่ควรระวังในช่วงท้อง (Pregnancy Symptoms Not to Ignore)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่มักจะมีอาการผิดปกติหลายอย่าง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ เช่น อาการท้องผูก ปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก เหนื่อยง่าย ซึ่งอาการหลายอย่างจะหายไปเองหลังคลอดลูก แต่จะมีบางอาการที่เป็นอาการผิดปกติที่แม่ๆ ควรให้ความสนใจและไม่ควรเพิกเฉย เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณอันตราย ที่คุณแม่อาจต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ


ในช่วงท้องมีหลายๆ อาการที่อาจเกิดขึ้นและไม่ได้มีอันตรายอะไรต่อแม่และเจ้าตัวเล็กนะคะ แต่จะมีบางอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการผิดปกติที่ต้องระวัง หรือทางการแพทย์เราจะเรียกว่า Red flag sign ที่คุณแม่ไม่ควรเพิกเฉยและควรรีบปรึกษาแพทย์ที่ดูแล หรือแพทย์ใกล้บ้านค่ะ อาการที่ควรต้องระวังคือ


1.ลูกดิ้นน้อยลง


เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากขึ้น ขนาดลูกที่ใหญ่มากขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดของมดลูก ทำให้แม่ๆ อาจรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง การนับลูกดิ้นจึงเข้ามามีความสำคัญ โดยควรเริ่มนับหลัง 28 สัปดาห์ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการนับลูกดิ้น) การดิ้นของลูก เป็นสัญญาณที่สามารถบอกสุขภาพของลูกคร่าวๆ ได้ ถ้าลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น คือดิ้นไม่ถึง 10 ครั้งใน 2 ชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกอาจมีปัญหา หรือเกิดความผิดปกติ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านค่ะ


2.มีเลือดออกผิดปกติ


แม้ว่าในคุณแม่อาจสามารถมีเลือดออกทางช่องคลอดได้เล็กน้อย เช่นเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือหลังการตรวจภายใน แต่ในหลายครั้งเลือดที่ออกนั้น อาจมาจากความผิดปกติบางอย่าง เช่น แท้งคุกคาม รกลอกตัวก่อนกำหนด (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเลือดออกทางช่องคลอดในไตรมาสที่ 1 และ ไตรมาสที่ 2,3) โดยเลือดออกที่ผิดปกติ มักจะออกปริมาณมาก ไม่หยุดเอง หรืออาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมค่ะ


3.น้ำเดิน


อาการน้ำเดินคือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่วออกมาก่อนการเจ็บครรภ์คลอด ซึ่งจะมีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอดคล้ายน้ำปัสสาวะ ซึ่งหลังจากมีอาการน้ำเดินคุณแม่มักจะเกิดการคลอดใน 12-24 ชั่วโมง ดังนั้นจึงควรรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนค่ะ


4.มีไข้ หนาวสั่น


แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่อาจมีไข้ต่ำๆ ได้ แต่กรณีที่คุณแม่มีไข้สูง หรือไข้หนาวสั่น หรือมีอาการอื่นๆ เช่น ไอ เจ็บคอ ปัสสาวะแสบขัด ปวดท้อง หอบเหนื่อย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เนื่องจากเป็นไปได้ว่าคุณแม่อาจมีการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งควรรีบหาสาเหตุและรักษา เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียไปถึงลูกในท้องค่ะ


5.ปวดท้องรุนแรง


อาการปวดหน่วงท้องอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงท้อง จากการขยายของมดลูก แต่หากอาการปวดท้องนั้นรุนแรงมากขึ้น ไม่หายไปแม้ว่าจะนั่งพัก หรือทานยาแก้ปวด หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมเช่น ท้องเสีย อาเจียน รวมถึงอาการที่บอกว่าใกล้คลอด (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเจ็บครรภ์จริงหรือเจ็บครรภ์หลอก) ควรรีบปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านทันทีค่ะ


6.ปวดหัวรุนแรง


ในช่วงท้อง คุณแม่หลายคนอาจมีอาการปวดศีรษะได้ง่ายขึ้นจากฮอร์โมนในช่วงท้อง โดยเฉพาะคนที่เคยมีอาการปวดศีรษะเดิมมาก่อนหน้านี้ แต่อาการปวดศีรษะมักจะดีขึ้นเอง หรือหายไปหลังทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล แต่หากว่าอาการปวดศีรษะเป็นมากขึ้น ระดับความเจ็บปวดรุนแรง หรือมีอาการอื่นๆ เช่นตาพร่ามัว อาจเป็นสัญญาณบอกว่า ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนค่ะ


7.น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว


ไม่แปลกที่คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นช่วงท้อง แต่ควรสังเกตุน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของตัวเอง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 หากคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 2.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูว่ามีปัญหาเรื่องครรภ์เป็นพิษรึเปล่าค่ะ


8.ขาบวมและปวดผิดปกติ


ในช่วงท้องคุณแม่อาจมีอาการมือบวม หรือ ขาบวมได้ ซึ่งเกิดจากการที่มีน้ำมากขึ้นในร่างกาย ซึ่งอาการบวมมักจะเป็นๆ หายๆ ไม่มีอาการปวด ซึ่งแบบนี้ถือว่าปกติ แต่หากคุณแม่มีขาข้างใดข้างหนึ่งบวมมากผิดปกติ ร่วมกับมีอาการปวด หรือมีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้น ต้องระวัง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) ซึ่งอาจพบได้ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนค่ะ


นอกจากนี้อาการอื่นๆ ที่ต้องระวังคือ อาการตาพร่ามัว หน้าบวม ปัสสาวะแสบขัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ วินิจฉัยเพิ่มเติม


ยังไงก็ตามหมอหน่อยขออวยพรให้แม่ๆ ทุกท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ปลอดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งปวงนะคะ แล้วมาพูดคุยกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ







เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai) Dr. Noi The Family


#อาการผิดปกติช่วงท้อง #อาการที่ควรระวังช่วงท้อง






ดู 1,924 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page