top of page

ข้อดี ข้อด้อยของการทานด้วย Baby Led Weaning หรือ BLW (Pros and Cons of BLW)

ปัจจุบัน การฝึกให้ลูกทานด้วยตัวเองหรือ Baby Led Weaning หรือ BLW ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง BLW 101) แต่คุณพ่อคุณแม่ พอจะรู้ข้อดี และข้อด้อย ของการให้ลูกทานด้วย BLW หรือไม่ วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่า ข้อดี และข้อด้อยของการทานอาหารของลูกน้อยด้วยวิธี BLW ให้ฟังค่ะ


ข้อดีของการทานแบบ BLW


1. สร้างนิสัยการกินที่ดีของลูก


การให้ลูกทานเอง เป็นการฝึกให้ลูกได้รู้จักการทานด้วยตัวเอง ทานเท่าที่ตัวเองหิว พออิ่มก็หยุด ซึ่งจะส่งผลให้ดีมีพฤติกรรมการกินในอนาคตดีกว่า การให้ลูกเป็นผู้รับอย่างเดียว (1)


เมื่อลูกเริ่มโต พบว่าเด็กที่ทานแบบ BLW จะสามารถบอกความรู้สึกหิว หรือ อิ่มได้เร็วกว่าการให้ทานแบบป้อน รวมทั้ง มีพฤติกรรมการทานเมื่อตอนที่หิว มากกว่า การทานเรื่อยๆ ตอนที่เห็นอาหาร (2)


2. ลดโอกาสเกิดภาวะน้ำหนักเกินในเด็ก


เนื่องจากการทานแบบ BLW จะให้เด็กเป็นผู้ควบคุมการกิน คือกินเมื่อหิว หยุดกินเมื่ออิ่ม ส่งผลให้เด็กได้รับอาหารตามความหิวจริงๆ ไม่ใช่การกินเรื่อยตามการป้อน ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถจำกัดปริมาณการกินที่แท้จริงตามความต้องการของเด็กได้


พบว่าการให้เด็กทานแบบ BLW จะมีโอกาสทำให้เด็กมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติมากกว่า การกินแบบการป้อน พบว่าเด็กที่กินแบบถูกป้อนจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยมากกว่าเด็กที่กินแบบ BLW 1 กิโลกรัม (4) และพบว่าเด็กที่ถูกป้อนด้วยช้อนมีโอกาสที่จะน้ำหนักเกินมากกว่าเด็กที่ทานแบบ BLW 2.4 เท่า (5)


3. ลูกมีพฤติกรรมการเลือกกินน้อยกว่า


เนื่องจากการกินแบบ BLW ทำให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติอาหารต่างๆ รูปร่างของอาหาร กลิ่น และสีของอาหารตามธรรมชาติ ซึ่งพบว่า การให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการกินแบบนี้ตั้งแต่ยังเด็ก ส่งผลให้ลูกไม่ค่อยมีพฤติกรรมการเลือกกิน (6)


นอกจากนี้ยังพบว่า การให้ทานแบบ BLW จะส่งผลให้ลูก ทานอาหารต่างๆ ได้ง่าย และสามารถทานได้หลายหลากได้มากขึ้น


4. อาหารแบบ BLW สามารถทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก


หลักการทานแบบ BLW คือให้ลูกทานอาหารแบบเดียวกันกับที่ทุกคนในครอบครัวทาน เพียงแต่ไม่ผ่านการปรุงแต่งรสชาติ หรือ ปรุงแต่น้อย และทำลักษณะของอาหารของลูกให้เหมาะสมกับช่วงวัย ทำให้ลดเวลาการเตรียมอาหาร หรือทำอาหารได้


5. สามารถทานข้าวพร้อมกันทั้งครอบครัวได้


การให้ลูกทานเองจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ ไม่จำเป็นต้องคอยนั่งป้อน มีเวลานั่งทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว เมื่อออกไปทานข้าวข้างนอก ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่ มีความสุขในการทานอาหารมากขึ้น


6. เพิ่มทักษะการใช้มือ หรือ Fine motor skill


การให้ลูกใช้มือทานเอง เป็นการฝึกทักษาการหยิบจับ การใช้มือ การหยิบอาหารเข้าปาก เป็นการกระตุ้นการใช้งานมือ หรือ Fine motor skill นอกจากนี้การฝึกการใช้งานมือ การอ้าปาก การเคี้ยว การตัดสินใจ ก็สามารถกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้ระบบเส้นใยประสาทในสมองมีการพัฒนาได้เร็วขึ้น


จะเห็นว่า ข้อดีของการทานแบบ BLW มีหลายอย่างเลยนะคะ อย่างไรก็ดี การให้ทานแบบ BLW ก็ยังพบว่ามีข้อด้อยบางอย่างคือ


ข้อด้อยของการทานแบบ BLW


1. อาจต้องระวังการสำลักอาหาร


เนื่องจากการให้เด็กทานเอง ต้องให้เด็กได้มีการเคี้ยว การกลืนด้วยตัวเอง หากทำอาหารในขนาดที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการสำลักก็อาจทำให้เด็กสำลักอาหารได้


อย่างไรก็ตาม พบว่า หากทำให้อาหารให้เหมาะกับลูก หรือทำตามคำแนะนำ ความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร ก็ไม่ได้แต่ต่างจากการ ให้ทานแบบการป้อนแต่อย่างใดค่ะ (7)


2. ค่อนข้างที่จะเลอะ


แน่นอนว่าการให้ลูกทานเอง อาจต้องเลอะมากกว่าการป้อน เพราะลูกอาจมีการโยนอาหาร ปี้อาหาร หรือการกินที่อาหารตกพื้นมากกว่าเข้าไปในปาก โดยเฉพาะช่วงแรกในการทาน


3. ไม่รู้ปริมาณที่ลูกทานว่า ทานได้แค่ไหน


เนื่องจากการปล่อยให้ลูกทานเอง เป็นการให้ลูกควบคุมการกินของตัวเอง และอาหารทั้งหมดก็อาจไม่ได้เข้าปาก แต่ตกอยู่ตามพื้น ทำให้ปริมาณอาหารที่ลูกทานได้จริง อาจน้อยว่าที่เตรียมไว้ โดยที่ไม่สามารถวัดได้ว่าลูกน้อยทานได้จริงๆ แค่ไหนค่ะ


4. อาจทำให้ได้รับสารเหล็กน้อย


ลูกน้อยมักจะเริ่มใช้ธาตุเหล็กที่สะสมมาในช่วงอยู่ในท้อง และธาตุเหล็กจากนมแม่หมดไปในช่วง 4-6 เดือนแรก ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้เพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง แต่เนื่องจากอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง มักไม่ได้ทานได้ง่ายแบบ BLW เช่น ตับไก่ เนื้อวัว หรือผักบางชนิด ซึ่งอาจทำให้โดยรวมแล้วลูกอาจได้รับธาตุเหล็กน้อยกว่าการทานแบบป้อนช้อน ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถปรุงอาหารได้มากกว่า ดังนั้น อาจลูกน้อยซีด คุณหมอเด็ก อาจมีการแนะนำให้ทานธาตุเหล็กเพิ่มเติม เพื่อลดภาวะขาดเหล็กค่ะ


กล่าวโดยสรุป


การทานแบบ BLW เป็นการให้ลูกทานด้วยตัวเอง ลูกสามารถทานตามความต้องการความหิวของตัวเองได้ ได้รู้จักอาหารรูปแบบต่างๆ ได้ฝึกทักษาต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การทานแบบนี้ก็มีข้อด้อยที่ต้องสนใจเช่นกันค่ะ แต่ไม่ว่าจะเป็นการทานด้วยช้อน หรือทานด้วย BLW การทำอาหารให้ลูกทานก็เป็นเรื่องสนุกอีกเรื่องนึงนะคะ


บทความหน้า หมอหน่อยจะมาเล่าเรื่องอาหารของตัวเล็กอีกนะคะ ขอบคุณที่ติดตามค่ะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


#ทานแบบBLW #ข้อดีของการทานด้วยวิธีBLW #ข้อด้อยของการทานแบบBLW







ดู 3,286 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page