top of page

ป้อนลูกด้วยช้อน เทคนิคที่ควรรู้ ข้อดี/ข้อด้อยของการให้ลูกกินด้วยช้อน (Spoon-fed weaning)

ว่าด้วยเรื่องอาหารมื้อแรกของลูกที่คุณพ่อคุณแม่ มักจะเริ่มที่อายุประมาณ 6 เดือน (อ่านความรู้เรื่อง อาหารมื้อแรกของลูก) ซึ่งการเริ่มอาหารจะเหมือนการลดปริมาณการทานนม ซึ่งจะเป็นขั้นตอนแรกที่จะค่อยๆ แนะนำอาหารชนิดต่างๆ รูปแบบต่างๆ ให้ลูกน้อย จนกระทั่ง สามารถที่จะทานได้คล้ายผู้ใหญ่ เมื่ออายุมากกว่า 1 ปี และทานนมเป็นอาหารเสริมเท่านั้น การลดการทานนม เราจะเรียกว่าการ weaning โดยลักษณะการเริ่มอาหารจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ หลักๆ คือ การป้อนด้วยช้อน หรือ Spoon-fed weaning หรือ Traditional weaning และการกินแบบใช้มือกินเอง หรือ BLW (ฺBaby-Led Weaning) ซึ่งจะมีหลักการที่แตกต่างกัน วันนี้หมอหน่อยจะขอเล่าถึงการป้อนด้วยช้อน หรือ Spoon-fed weaning ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่เราใช้กันมานาน ว่ามีอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้บ้างนะคะ


การป้อนอาหารด้วยช้อน หรือ Spoon-fed weaning เป็นวิธีดั้งเดิมที่เราทำกันมานาน คือการป้อนอาหารกึ่งเหลวให้เด็กด้วยช้อน ซึ่งเป็นการป้อนโดยคนเลี้ยง หรือให้เด็กจับถือเองในบางครั้ง ซึ่งลักษณะของอาหารที่ป้อนจะเป็นอาหารบด ซึ่งจะแบ่งหลักๆ ออกเป็น 3 ระยะ คือ

  1. Stage 1 : เป็นลักษณะบดเหลว ความเข็มข้นคล้ายโยเกิร์ต ซึ่งจะเหมาะกับการเปลี่ยนจากนม มาเป็นอาหาร ซึ่งเหมาะกับเด็กที่มีอายุ 4-7 เดือน เพื่อให้เด็กเริ่มฝึกการกลืนให้เก่งขึ้น เพราะการกลืนอาหารกับการกลืนนม จะใช้ทักษะที่แตกต่างกัน

  2. Stage 2 : เป็นลักษณะที่ข้นขึ้นมา ไม่เหลวเกินไป ซึ่งจะเพิ่มทักษะการเคี้ยวให้เด็กมากขึ้น เหมาะกับเด็กอายุ 7-8 เดือน

  3. Stage 3 : เป็นลักษณะอาหารที่เริ่มมีส่วนที่แข็งร่วมด้วย ไม่บดละเอียด เหมาะกับเด็กอายุ 9-12 เดือน ที่มีทักษะการเคี้ยวที่ดีแล้ว



การป้อนอาหารด้วยช้อนนั้น มักจะต้องได้รับการป้อนจากคนเลี้ยง หรือดูการกินของลูกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาหารที่ลูกทานเริ่มต้นเป็นอาหารเหลว การป้อนด้วยช้อนจึงสามารถเริ่มทำได้ตั้ง 4-6 เดือน หากลูกมีความพร้อมในการกินอาหารค่ะ


ข้อดีของการป้อนอาหารด้วยช้อน หรือ Spoon-fed weaning


  1. ช่วยให้ลูกเริ่มกินได้ง่าย เนื่องจากการป้อนเป็นการกินที่ทำได้รวดเร็วด้วยคนเลี้ยง และอาหารสามารถกินและกลืนได้ง่าย ทำให้ตอบสนองลูกได้ดีเมื่อลูกหิว

  2. ไม่เลอะหรือเปื้อนมากเกินไป เนื่องจากการป้อนด้วยช้อนสามารถควบคุมการกินได้ง่ายกว่า การให้เด็กกินเอง

  3. สามารถรู้ปริมาณการกินของลูกได้ ควบคุมปริมาณการกินของลูกได้ เนื่องจากลูกจะกินตามปริมาณที่เราเตรียมไว้ใน

  4. ลูกจะได้รับสารอาหารที่หลากหลายและอาจครบถ้วนกว่า เนื่องจากการทำอาหารให้ลูก สามารถที่จะผสมอาหารหลายๆ ประเภท ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ผัก โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ทำให้สามารถที่จะมั่นใจในสารอาหารที่ลูกได้รับมากกว่าการให้ทานด้วยตัวเอง

  5. เกิดการสำลักได้น้อยกว่า เนื่องจากการป้อนอาหารด้วยช้อน จะเพิ่มระดับความแข็งของอาหารทำให้ลูกได้ฝึกและเรียนรู้เรื่องของการกลืน ส่งผลให้เกิดโอกาสสำลักได้น้อยกว่าการให้กินเอง


ข้อด้อยของการป้อนอาหารด้วยช้อน

  1. ต้องเสียเวลาในการเตรียมอาหาร ซึ่งมีขั้นตอนที่มากกว่า

  2. ไม่สามารถทานอาหารในเวลาเดียวกันกับลูกได้ เนื่องจากว่าต้องคอยดู คอยป้อนลูก

  3. ลูกไม่ได้มีโอกาสควบคุมการกินด้วยตัวเอง ไม่ได้เรียนรู้หรือสัมผัสลักษณะที่แตกต่างของอาหารแต่ละชนิด

  4. ถ้าป้อนอาหารด้วยช้อนนานๆ อาจทำให้ทักษะการหยิบจับต่างๆ ของลูกช้าลง อาจทำให้ลูกไม่ยอมใช้ช้อนเอง หรือกินเองได้

  5. อาจทำให้เกินภาวะน้ำหนักเกิน จากการป้อนอาหารที่มากเกินไป โดยที่ลูกไม่ได้ควบคุมเองว่าอิ่มแล้ว


อย่างไรก็ตาม คุณแม่คุณพ่อ ไม่จำเป็นต้องยึดติดวิธีใด วิธีหนึ่งมาเกินไปก็ได้นะคะ เนื่องจากแม้ว่าจะป้อนอาหารลูก และก็ยังสามารถให้เค้าได้ทดลองการจับอาหารบางชนิดกินได้ หรือที่เรียกว่า BLW หรือ Baby-Led weaning ซึ่งอาจจะทำพร้อมกัน หรือ ทำสลับวันกันก็ได้ เพราะการเลี้ยงลูกเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องปรับกันตามครอบครัวค่ะ


เอาไว้หมอหน่อยจะมาเล่าเรื่องของ Baby-Led weaning อีกรอบนะคะ อย่าลืมติดตามกันไว้นะคะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


#ป้อนอาหารลูก #ข้อดีของการป้อนอาหารลูก #ข้อเสียของการป้อนอาหารลูก







ดู 771 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page