ในบทความก่อนหน้านี้หมอได้เขียนเล่าสิ่งที่ควรทำให้ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงสิ่งที่ไม่ควรทำโดยรวมในช่วงที่คุณแม่ตั้งท้อง เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย รวมถึงสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ด้วยค่ะ สิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง ไปติดตามรายละเอียดกันค่ะ
สิ่งที่ไม่ควรทำในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์
1.ไม่ควรสูบบุหรี่
คุณแม่สูบบุหรี่หรือไม่? ถ้าคุณแม่สูบบุหรี่ เวลานี้เป็นเวลาที่ดีมากๆ ในการเลิกสูบบุหรี่ จากรายงานของ CDC พบว่า แม่ที่สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งลูก รวมถึงส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติ เช่น ปากเหว่ง เพดานโหว่ ทารกน้ำหนักน้อย คลอดก่อนกำหนด หรือตายในครรภ์ นอกจากนี้อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติของทารกหลังคลอดได้ ทารกที่อยู่ในบ้านที่พ่อหรือแม่สูบเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (SIDS) ได้มากขึ้น
ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่ เป็นสิ่งสำคัญแรกๆ ที่แม่ควรทำ สำหรับคุณพ่อที่สูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่จะเป็นของขวัญชิ้นแรกให้ลูกของคุณ เนื่องจากการสูบบุหรี่ของคุณพ่อให้บ้าน ย่อมส่งผลเสียต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องอยู่ ไม่แตกต่างจากการที่คุณแม่สูบบุหรี่เอง
2. ไม่ควรดื่มแอลกอฮอร์
ไม่มีการศึกษาถึงปริมาณของการดื่มแอลกอฮอร์ที่ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ ใน CDC บอกว่า การดื่มแอลกอฮอร์ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติ เช่น มีรูปหน้าที่ผิดปกติ หรือการพัฒนาของระบบประสาทที่ผิดปกติได้ การดื่มแอลกอฮอร์ในช่วงตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือ Fetal Alcohol Spectrum Disorders (FASDs)
ถ้าคุณแม่ดื่มแอลกอฮอร์ในช่วงที่ตั้งครรภ์อยู่ ไม่มีคำว่าช้าไปในการเลิกดื่มนะคะ เลิกดื่มแอลกอฮอร์ทันที ที่ทราบว่าตั้งครรภ์ค่ะ
3. ไม่ทานเนื้อดิบ/ไข่ดิบ
ในเนื้อดิบมีความเสี่ยงที่จะมีเชื้อโรคต่างๆ เช่น Listeriosis and toxoplasmosis ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคที่รุนแรงในแม่ และส่งผลให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้ เนื่องจากในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ จะต่ำลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรปรุงอาหารทุกชนิดในสุก และอุ่นร้อนก่อนเสมอค่ะ
4. ไม่กินนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพลาสเจอไรซ์
แม้ว่านมจะเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญสำหรับคุณแม่ แต่ที่สำคัญคือไม่ควรทานนมดิบ เนื่องจากนมดิบ อาจมีแบคทีเรีย Listeria ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคที่รุนแรงในแม่ อาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้ ก่อนดื่มนม ควรดูในแน่ใจเสมอว่านมนั้นได้รับการพลาสเจอไรซ์เรียบร้อยแล้ว
5. ไม่ควรเข้าซาวด์น้าหรือแช่น้ำร้อนนานๆ
ในช่วงที่คุณแม่ตั้งท้องอุณหภูมิร่างกายของคุณแม่จะสูงขึ้นจากการทำงานของฮอร์โมนของการต้งครรภ์อยู่แล้ว ดังนั้นการแช่น้ำร้อนหรือเข้าซาวด์น้า อาจส่งผลให้เกิดความร้อนในร่างกายที่สูงเกินไป ส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ ทั้งยังอาจทำให้คุณแม่ขาดน้ำ หรือหน้ามืดเป็นลมได้ พบว่าการที่ร่างกายโดยความร้อนที่มากเกินไปโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแท้งได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกมีความผิดปกติได้
6. ไม่ดื่มกาแฟที่มากจนเกินไป
เนื่องจากคาเฟอีนในกาแฟ ส่งผ่านรกไปมีผลต่อการเต้นหัวใจของทารกได้ ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรลดปริมาณการดื่มกาแฟลงมา หรือ ปริโภคคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน (อยากมีลูก/ท้องอยู่..ยังดื่มกาแฟได้มั๊ย?) หรือคือกาแฟประมาณ 1-2 แก้วต่อวัน เนื่องจากพบว่าปริมาณคาแฟอีนที่มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดภาวะแท้ง หรือทารกน้ำหนักน้อยได้
7. อย่ากินเพื่อ 2 คน
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินว่าท้องอยู่ต้องกินเผื่อลูกด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากการกินที่มากเกินไป อาจทำให้แม่น้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกน้ำหนักเกิน อาจมีปัญหาช่วงคลอด หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหลังคลอดได้
จริงๆ แล้วในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถกินอาหารเท่าๆ เดิมโดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และเพิ่มพลังงานของอาหารที่บริโภคต่อวันประมาณ 300-350 กิโลแคลอรี่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ เพื่อให้การเติบโตของทารกเป็นไปได้อย่างเหมาะสมค่ะ
8. อย่าทำความสะอาดกล่องอุจจาระแมว
เนื่องจากในอุจาระของแมว อาจมีเชื้อโรคชื่อว่า Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นอันตรายมากต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรครุนแรง ทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ทารกที่ได้รับเชื้อ toxoplasma gondii อาจส่งผลให้มีการพัฒนาของสมองที่ผิดปกติ โรคลมชัก หรือการมองเห็นที่ผิดปกติได้ นอกจากนี้หากคุณแม่จะไปทำสวน ควรสวมถุงมือทุกครั้งและล้างมืออย่างสม่ำเสมอค่ะ
นี่เป็น 8 สี่งที่แม่ๆ ไม่ควรทำในช่วงที่ตั้งครรภ์อยู่นะคะ บทความหน้าหมอหน่อยจะนำความรู้เรื่องไหนมาฝากแม่ๆ อีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย จากเพจ Dr. Noi the family (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments