top of page

7 กิจกรรมที่สามารถช่วยให้ลูกคลานได้เร็วขึ้น (Top tip to teach baby to crawl)

อัปเดตเมื่อ 21 ม.ค. 2566

พัฒนาการด้านการคลาน เป็นพัฒนาการหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้าคอย ซึ่งลูกมักจะสามารถคลานได้ในช่วงอายุ 6-10 เดือน แม้ว่าเด็กบางคนจะสามารถข้ามขั้นตอนนี้ อาจจะข้ามจากการนั่งไปยืน หรือเดินเลย แต่จริงๆ แล้ว การคลาน เป็นพัฒนาการหนึ่งที่สำคัญ หมอหน่อยจึงอยากมาแนะนำ กิจกรรม ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นให้ลูกสามารถคลานได้เร็วขึ้น มาดูกันว่า กิจกรรม เหล่านั้นมีอะไรบ้างค่ะ


การคลาน เป็นพัฒนาการหนึ่งที่สำคัญ ทั้งด้านร่างกาย และสมอง เป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่อาจช่วยให้ลูกน้อยฉลาดและแข็งแรงมากขึ้น


ทางร่างกาย การคลานจะช่วยให้กล้ามเนื้อ ทั้งกล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา ของลูกแข็งแรง นอกจากนี้ ยังสร้างความแข็งแรงของข้อต่อต่าง ทั้ง ข้อไหล่ และข้อสะโพก ซึ่งความแข็งแรงนี้จะส่งผลดีต่อพัฒการอื่นๆ ของลูก ไม่ว่าจะเป็น การเดิน การวิ่ง การใช้มือในการทำกิจกรรมต่างๆ


ทางสมอง ปกติสมองจะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งซ้ายและขวา การคลาน จะต้องใช้การทำงานสอดประสานของสมองในด้านตรงข้ามกัน เช่น แขนขวาและขาซ้ายต้องไปพร้อมกัน ปกติการทำงานที่ต้องประสานกัน 2 ฝั่งต้องใช้กลุ่มใยประสานที่อยู่ส่วนกลางให้การสื่อสาร หรือที่เราเรียกว่า Corpus callosum ยิ่งใช้งานมาก ความแข็งแรงและการพัฒนาของ Corpus callosum ยิ่งมากตามไปด้วย ซึ่งพบว่าสัมพันธ์กับ ความฉลาดที่เพิ่มขึ้น การคิดที่ดีขึ้น การพูด และการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น


ก่อนจะคลาน ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่เป็นพื้นฐานอื่นๆ เช่นการพลิกตัว การนั่ง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถช่วยลูกน้อยให้มีพัฒนาการที่ดีได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง 5 เทคนิคสอนลูกให้คลานได้)


อย่างไรก็ตาม มีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกน้อย เพื่อให้ลูกน้อยสามารถทานได้ด้วยตัวเองเร็วขึ้น


1. คลานเป็นตัวอย่างให้ลูกดู


สิ่งหนึ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด และประหยัดที่สุดคือ การคลานเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อยดู ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ หรือพี่ๆ ก็สามารถคลานเป็นตัวอย่างได้ ยิ่งได้ตัวอย่างในการทำมากแค่ไหน ลูกน้อยจะสามารถทำตามได้มากขึ้นเท่านั้นค่ะ


2. ให้ลูกฝึกทำหน้ากระจก


ลูกน้อยชอบมากๆ กับการมองกระจก การเห็นว่าตัวเองทำอะไร แขนขาอยู่ตรงไหน จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ท่าทางของตัวเอง การวางลูกน้อยหน้ากระจกหรือปลอดภัย หรือการทำ Tummy Time หน้ากระจก จะช่วยทำให้ลูกมีโอกาสพัฒนาทักษะการคลานได้มากขึ้น


3. วางลูกน้อยบนพื้นที่สามารถทำให้ลูกน้อยสามารถหมุนตัวได้ง่าย


เวลาที่ลูกนั่ง ลูกจะเริ่มฝึกมหมุนตัวเองไปมาเป็นวงกลม ซึ่งทำให้ลูกสามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหว และท่าทางของตนเอง รวมถึงฝึกการทรงตัว ซึ่งจะทำให้การคลานง่ายขึ้น พื้นที่ที่เหมาะสม เช่น เสื่อรองคลาน หรือ คอกกั้นที่มีเบาะ ซึ่งจะช่วยให้การเคลื่อนไหวของลูกดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ทำไมคอกกั้นจึงสำคัญ)


4. วางของเล่นหลอกล่อให้ลูกเอื้อม


วางของเล่นที่ลูกน้อยชอบ ไว้ให้ไกลเกินเอื้อม เพื่อให้ลูกลองใช้ร่างกายให้การช่วยหยิบ ลูกจะพยายามขยับตัวไปหยิบของเล่นที่อยากได้ โดยแนะนำให้จับลูกนอนในท่าที่ทำ Tummy Time จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากคลานมากยิ่งขึ้น


5. วางผ้าใต้หน้าอกและท้อง


คุณพ่อคุณแม่สามารถม้วนผ้าเช็ดตัวหนาๆ วางไว้ใต้ท้องและหน้าอกของลูกน้อย โดยจัดท่าให้ลูกอยู่ในท่าคลาน รู้จะจดจำท่าทาง การวางมือ การวางขา ทำให้ลูกสามารถทำท่าทางการคลานได้ง่ายขึ้น และพัฒนาไปเป็นการคลานด้วยตัวเองเร็วขึ้น


6. ประคองตัวลูกในท่าคลาน


คุณพ่อคุณแม่ อาจช่วยประคองตัวลูกน้อยให้เคลื่อนไหวในท่าคลาน โดยประคองบริเวณสะโพก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ท่าทางการคลาน และจะสามารถทำด้วยตัวเองได้เร็วขึ้น


7. ช่วยดันบริเวณเท้าของลูก เมื่อลูกคลานไปด้านหน้า


เมื่อลูกเริ่มจะทรงตัวในท่าคลาน ลูกมักจะมีลักษณะการเอียงไปทางด้านหลัง ไม่สามารถเคลื่อนไปทางด้านหน้าได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่ สามารถช่วยเหลือลูกได้โดนการกันบริเวณเท้าลูกด้วยมือ ทำให้ลูกสามารถออกแรงดันเท้า เพื่อเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ดีขึ้น


กิจกรรมเหล่านี้ เป็นกิจกรรมที่หมอหน่อยได้หาข้อมูลมา เพื่อกระตุ้นให้อันนาคลานได้เร็วขึ้น และได้ทดลองทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้กับอันนา ทำให้อันนาสามารถคลานได้เองเมื่ออายุ 8 เดือน หลังจากคลานได้ พบว่า พัฒนาการอื่นๆ ของอันนา ดีขึ้นแบบเห็นได้ชัดค่ะ


หมอหน่อยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เผื่อลองไปทำดูนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD)


📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ


#สอนลูกคลาน








ดู 2,517 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page