แม้ว่าไม่มีอาการไหนที่สามารถยืนยันว่าคุณแม่จะตั้งครรภ์แฝด ยกเว้นการอุลตร้าซาวด์ เพื่อยืนยันว่ามีตัวอ่อนมากกว่าหนึ่ง แต่บางครั้งร่างกายของแม่ๆ ก็มีสัญญาณบางอย่างที่อาจช่วยบอกได้ว่า รอบนี้คุณแม่อาจมีตัวเล็กอยู่ในท้องมากกว่า 1 คนค่ะ
ในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่คุณแม่จะมีลูกแฝดมากขึ้น จากการที่ใช้วิทยาการรักษาภาวะมีบุตรยาก และอายุของคุณแม่ที่เพิ่มมากขึ้น ก็เพิ่มโอกาสมีลูกแฝดมากขึ้นด้วย (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง อยากมีลูกแฝดทำอย่างไรได้บ้าง?) มีอาการบางอย่างที่แม่ๆ พอที่จะเดาได้ก่อนว่า การตั้งครรภ์ครั้งนี้ของคุณแม่ เป็นการตั้งครรภ์ท้องแฝดหรือไม่ อาการที่สามารถสังเกตได้คือ
1.อาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องโดยส่วนใหญ่แม่ๆ จะเริ่มมีอาการในช่วงสัปดาห์ที่ 6-8 ของการตั้งครรภ์ หรืออาจมีได้เร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง อาการแพ้ท้อง) โดยสำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด จะมีโอกาสที่จะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากปริมาณ HCG ที่สูงมากกว่าปกติ และอาจมีอาการแพ้ท้องได้ยาวนานกว่าปกติ โดยอาจมีอาการแพ้ท้องได้จนถึง 14 สัปดาห์
2. อ่อนเพลียมาก
อาการอ่อนเพลียมักจะพบได้บ่อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง อาการที่ชวนสงสัยว่าคุณตั้งครรภ์) โดยหากคุณแม่มีลูกแฝด อาจจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ แม้แต่การลุกจากเตียง อาจจะเป็นเรื่องยากไปเลย เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการเจริญเติบโตของตัวอ่อนมากกว่า 1 คน ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกอ่อนเพลียเป็นอย่างมากได้
3. ค่า Beta HCG สูงกว่าปกติ
ฮอร์โมน Beta-HCG เป็นฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ที่คุณแม่จะตรวจเจอในแผ่นตรวจตั้งครรภ์ และในบางครั้งอาจมีการเจาะเลือด เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ โดยในกรณ์ที่คุณแม่มีลูกแฝด อาจมีค่าฮอร์โมน HCG ที่สูงมากกว่าปกติ โดยมักจะมีค่าสูงมากกว่าค่าปกติ 2-3 เท่า
4. ได้ยินเสียงหัวใจมากกว่า 1 เสียง
ในช่วงประมาณ 7-8 สัปดาห์ คุณแม่จะสามารถได้ยินเสียงหัวใจของลูกน้อยแล้ว อาจได้ยินด้วยการใช้เครื่อง Fetal doppler ทางหน้าท้อง หรือการได้ยินจากการทำอัลตร้าซาวด์
5. รู้สึกลูกดิ้นได้เร็วกว่าปกติ
โดยส่วนใหญ่คุณแม่ มักจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นหลัง 18 สัปดาห์ แต่สำหรับคุณแม่ที่มีตัวเล็กมากกว่า 1 คน อาจรู้สึกถึงลูกดิ้นที่เร็วกว่านั้น บางคนอาจเริ่มรู้สึกที่ 15-16 สัปดาห์ได้
6. น้ำหนักขึ้นมากกว่าปกติ
โดยปกติในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่อาจจะยังน้ำหนักไม่ขึ้นจากอาการแพ้ท้อง หรือ น้ำหนักอาจขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่หากคุณแม่ท้องลูกแฝด อาจทำให้คุณแม่มีน้ำหนักที่เพิ่มมากกว่าปกติได้ สำหรับคุณแม่ที่ท้องแฝด น้ำหนักที่ควรขึ้นตามมาตรฐาน จะอ้างอิงจาก BMI ตั้งแต่ก่อนท้องเป็นหลัก คือ
BMI น้อยกว่า 18.5: 22-28 กิโลกรัม
BMI 18.5–24.9: 16-25 กิโลกรัม
BMI 25–29.9: 14-23 กิโลกรัม
BMI greater or equal to 30: 11-19 กิโลกรัม
7. ทำอัลตร้าซาวด์
การทำอัลตร้าซาวด์ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด หรือ ทางหน้าท้อง อาจจะทำในช่วง 6-8 สัปดาห์ เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ในมดลูก และดูอายุครรภ์ของทารก โดยสำหรับการตั้งครรภ์แฝด อาจเห็นตัวอ่อน และหัวใจว่ากว่า 1 ซึ่งจะเป็นการยืนยันการตั้งครรภ์แฝดค่ะ
แม้การตั้งครรภ์แฝด อาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับแม่ๆ แต่ก็มาพร้อมความเสี่ยงในการตั้งครรภ์อีกหลายอย่าง ความสำคัญคือการติดตามการตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิดและดูแลตัวเองให้ลูกวิธี และทานวิตามินบำรุงต่างๆ ให้เหมาะสมและเพียงพอค่ะ เอาไว้หมอหน่อยจะมาเล่าเกี่ยวกับการตั้งท้องแฝดอีกครั้งนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) Dr. Noi The Family
Comments