top of page

การทำเด็กหลอดแก้วคืออะไร?IVF กับ ICSI คืออะไร?แตกต่างกันอย่างไร? (Assisted reproductive technology)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

แม้ว่าความมุ่งหวังของคุณพ่อคุณแม่ทุกคน คือการมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติ แต่เรื่องนี้อาจไม่ง่ายสำหรับใครหลายๆคน เมื่อเราได้ใช้ความพยายามมาเต็มที่แล้ว หรือมีอุปสรรคที่ทำให้การมีลูกของเราไม่ใช่เรื่องง่าย การใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ หรือ Assisted reproductive technology (ART) อาจเข้ามามีบทบาท ทำให้การมีลูกของเราในครั้งนี้สำเร็จสมความตั้งใจก็ได้นะคะ วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าเรื่งของ ART ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คือ IVF หรือ In Vitro Fertilization และ การทำอิกซี่ (Intracytoplasmic sperm injection, ICSI) หรือที่เรารู้จักกันว่า เด็กหลอดแก้ว แล้วเด็กหลอดแก้วคืออะไร? IVF กับ ICSI มีวิธีแตกต่างกันอย่างไร? เดี๋ยววันนี้เราจะไปทำความรู้จักเรื่องนี้คร่าวๆ กันนะคะ


เด็กหลอดแก้ว IVF ICSI การเตรียมตัวก่อนทำIVF วิธีทำเด็กหลอดแก้ว ทำอิ๊กซี่

เด็กหลอดแก้วคืออะไร? (What Is In Vitro Fertilization?)

In vitro fertilization (IVF) เป็นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์วิธีหนึ่ง ซึ่งคือการเก็บไข่จากรังไข่ของผู้หญิง แล้วนำมาผสมกับสเปิร์ม ภายนอกร่างกายในห้องปฎิบัติการ แล้วเลี้ยงจนได้ตัวอ่อน หลังจากนั้นก็นำตัวอ่อนกลับไปใส่ในมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนเกิดการฝังตัวและเติบโตต่อไป ซึ่งการทำ IVF นั้นจะมีตัวเลือกที่สามารถแก้ปัญหาการมีบุตรยากได้มากขึ้น โดยคุณอาจจะ

  • ใช้ไข่ของคุณกับสเปิร์มของสามี

  • ใช้ไข่ของคุณกับสเปิร์มบริจาค

  • ใช้ไข่บริจาคกับสเปิร์มของสามีคุณ

  • ใช้ตัวอ่อนบริจาค

  • ให้คนอื่นอุ้มบุญ ตัวอ่อนที่เกิดจากคู่ของคุณ ในกรณีที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้

โอกาสประสบความสำเร็จในการทำ IVF ตามข้อมูลของ American Pregnancy Association คือ 41-43% ในคนที่อายุน้อยกว่า 35 ปี และประมาณ 13-18% ในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี


ทำไมถึงต้อง IVF (Why Is In Vitro Fertilization Performed?)

IVF เป็นเทคโนโลยี ที่จะช่วยให้คุณมีลูกได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ แต่เนื่องจาก การทำ IVF เป็นการรักษาที่อาจเจ็บตัวบ้าง รวมถึงราคาค่อนข้างแพง ดังนั้นแพทย์จึงมักรักษาด้วยวิธีการอื่นๆก่อน เช่น การใช้ยากระตุ้นไข่ หรือ การทำ IUI แต่ในบางกรณี ก็อาจต้องพิจารณาการทำ IVF เป็นอันดับต้นๆ เช่น

  • อายุของมารดามาก โดยเฉพาะมีอายุมากกว่า 40 ปี

  • มีท่อนำไข่ตับตันทั้ง 2 ข้าง

  • จำนวนไข่เหลือน้อย

  • มี Endometriosis แบบรุนแรง หรือ ปัญหาก้อนเนื้องอกมดลูก

  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ที่ควรต้องตรวจโครโมโซมก่อน

  • ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องสเปิร์ม เช่น สเปิร์มจำนวนน้อย เคลื่อนไหวไม่ดี

  • มีปัญหาเรื่องการตกไข่

  • มีปัญหามีบุตรยากแบบที่ไม่สามารถอธิบายได้

การเตรียมตัวเพื่อทำ IVF (How Do I Prepare for In Vitro Fertilization?)

  • การประเมินร่างกายโดยแพทย์ ก่อนการทำ IVF แพทย์อาจทำการตรวจเลือด เพื่อดูต่าต่างๆ เช่น จำนวนไข่ที่เหลืออยู่ ตรวจ FSH, AMH เพื่อประเมินเกี่ยวกับจำนวนไข่ และวางแผนการรักษา

  • แพทย์จะทำการ Ultrasound และตรวจภายใน เพื่อประเมินมดลูก เพื่อประเมินเรื่องการฝังตัวของตัวอ่อน

  • ฝ่ายชายจะต้องตรวจคุณภาพของสเปิร์ม เพื่อดูคุณภาพของสเปิร์มว่าดีแค่ไหน หากสเปิร์มไม่มีคุณภาพ อาจต้องใช้การทำ ICSI แทน

หน้าที่ของคุณที่ต้องทำ คือการเตรียมความพร้อมก่อนการทำ IVF ให้ดีที่สุด โดยการดูแลสุขภาพ บำรุงไข่ บำรุงสเปิร์ม กินวิตามินบำรุง เนื่องจากการทำ IVF มีราคาค่อนข้างแพง และไม่ได้การันตีว่าคุณจะสำเร็จได้ในการทำเพียงแค่ครั้งเดียว ดังนั้น คุณสามารถเพิ่มโอกาสสำเร็จได้มากขึ้น โดยการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดนั่นเอง






การทำ IVF มีหลายอยางที่ต้องคิดและตัดสินใจ เช่น

  • คุณจะทำอย่างไรกับตัวอ่อนที่ไม่ได้ใช้

  • คุณจะใส่ตัวอ่อนกี่ตัว จำนวนตัวอ่อนที่ใส่มากขึ้น ก็เพิ่มความเสี่ยงในการตั้งครรภ์แฝด ซึ่งการตั้งครรภ์แฝด เป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง แพทย์จึงมักให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้

  • ถ้าคุณตั้งครรภ์แฝดจะยอมรับได้หรือไม่?

  • คุณจะรู้สึกอย่างไร หากคุณต้องใช้ไข่ หรือ สเปิร์มบริจาค หรือการอุ้มบุญ และการทำแบบนั้น มีขั้นตอนทางกฎหมายอย่างไร?

  • คุณมีความพร้อมด้านการเงินมากแต่ไหน และ ยอมรับการความเครียดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำได้หรือไม่?

การทำเด็กหลอดแก้ว ไม่ว่าเป็น IVF หรือ ICSI ต้องใช้ความเข้าใจ ปรึกษาแพทย์ที่ดูแล มีการพูดคุยระหว่างสามีและภรรยา เพื่อให้กระบวนการในการทำราบรื่นมากที่สุดเท่าที่ทำได้ค่ะ

IVF กับ ICSI แตกต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง 2 กระบวนการนี้คือวิธีการที่ตัวอสุจิจะเข้าไปปฏิสนธิกับไข่


  • สำหรับ IVF นั้นเซลล์ไข่และตัวอสุจิ (ซึ่งมีหลายตัว) ถูกนำไปวางผสมกันในจานเพาะเลี้ยงโดยปล่อยให้ตัวอสุจิว่ายเข้ามาผสมกับเซลล์ไข่เองตามธรรมชาติ อสุจิที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถทำการปฏิสนธิกับไข่ได้

  • สำหรับ ICSI จะคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์เพียงตัวเดียว และใช้เข็มแก้วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็ก ๆ แบบเจาะเปลือกไข่ ฉีดตัวเชื้อเข้าไปในเซลล์ของไข่โดยตรงภายใต้กล้องจุลทรรศน์ มักจะทำในคู่ที่ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องคุณภาพของสเปิร์ม โดยการทำ ICSI สามารถคัดเลือกสเปิร์มที่มีคุณภาพดีที่สุด ก่อนที่จะนำไปฉีดเข้าไปผสมกับไข่ เพื่อโอกาสสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วได้มากขึ้น

ขั้นตอนในการทำ IVF (How Is In Vitro Fertilization Performed?)

ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ การทำ IVF แบ่งเป็นขั้นตอนหลักๆ 6 ขั้นตอนคือ

1. ขั้นตอนการกระตุ้นไข่ หรือ Ovarian stimulation

2. ขั้นตอนการเก็บไข่ หรือ Egg retrieval

3. ขั้นตอนการคัดแยกตัวอสุจิ หรือ Insemination

4. การผสมและเลี้ยงตัวอ่อน หรือ Embryo culture

5. การย้ายตัวอ่อน หรือ Transfer

6. ตรวจการตั้งครรภ์. หรือ Pregnancy test

ขั้นตอนการทำ IVF หรือ ICSI
ขั้นตอนการทำเด็หลอดแก้ว

1. ขั้นตอนการกระตุ้นไข่ หรือ Ovarian stimulation

ตามธรรมชาติแล้วผู้หญิงจะมีไข่ตกแค่เดือนละ 1-2 ฟองเท่านั้น แต่การทำ IVF ต้องการไข่จำนวนมาก เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสให้การทำประสบความสำเร็จได้มากที่สุด แพทย์จะให้ยาสำหรับการกระตุ้นให้ไข่เจริญเติบโต และมียาฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนวันเก็บไข่ โดยอาจมีระยะเวลาในการฉีดยาประมาณ 10-12 วัน ระหว่างนี้ แพทย์จะทำการติดตามการเติบโตของไข่ ประมาณ 3 ครั้ง เพื่อวางแผนในการเก็บไข่ โดยแพทย์จะให้ฉีดยากระตุ้นให้ไข่ตกออกมา เมื่อไข่มีขนาดที่เหมาะสมคือประมาณ 18 มิลลิมตร โดยหลังฉีดยาไข่จะตกภายใน 36 ชั่วโมงต่อมา


2. ขั้นตอนการเก็บไข่ หรือ Egg retrieval

การเก็บไข่ หรือที่เราเรียกว่า follicular aspiration โดยจะทำภายใต้การดมยาสลบ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กที่แนบหัวตรวจอัลตราซาวด์ขนาดเล็กๆจึงทำการดูดไข่ออกมา ซึ่งใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง จากนั้นจะนำไข่ที่ได้ไปเตรียมเพื่อรอการผสมกับสเปิร์ม


3. ขั้นตอนการคัดแยกตัวอสุจิ หรือ Insemination

ฝ่ายชายจะทำการเก็บน้ำอสุจิ ซึ่งมีขึ้นตอนเดียวกันกับการเก็บน้ำอสุจิเพื่อทำการตรวจ (อ่านเพิ่มเติม) จากนั้นจะนำไปปั่นล้างคัดแยกอสุจิที่มีคุณภาพเพื่อไปผสมกับไข่ ด้วนการทำ IVF หรือ ICSI ต่อไป

4. การผสมและเลี้ยงตัวอ่อน หรือ Embryo culture


การเลี้ยงตัวอ่อนในตู้เลี้ยงตัวอ่อนที่ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแบ่งเซลล์ จากหนึ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ สี่เซลล์ แปดเซลล์ตามลำดับ หลังจากนั้นตัวอ่อนสามารถได้รับการคัดเลือกเพื่อย้ายกลับเข้ามดลูก หรือเลี้ยงต่อเพื่อรอการเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสต์ (Blastocyst) ระหว่างเตรียมย้ายตัวอ่อน แพทย์อาจให้ยาเพื่อเตรียมผนังมดลูกร่วมด้วย

5. การย้ายตัวอ่อน หรือ Transfer

หลังจากที่ได้ตัวอ่อนที่โตเพียงพอ อาจจะอยู่ในช่วง 3-5 วันหลังปฎิสนธิ แพทย์จะนัดเพื่อทำการย้ายตัวอ่อน การใส่ตัวอ่อนเป็นลักษณะคล้ายการตรวจภายในไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ แพทย์จะใช้สายย้ายตัวอ่อนผ่านสายขนาดเล็ก เพื่อวางตัวอ่อนที่มดลูก โดยทั่วไปแพทย์จะทำการ ultrasound ร่วมด้วย เพื่อหาตำแหน่งในการวางตัวอ่อนที่ดีที่สุด


6. ตรวจการตั้งครรภ์. หรือ Pregnancy test

หากตัวอ่อนสามารถฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้ จะสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์หลังจากนั้น โดยแพทย์อาจนัดมาเจาะเลือดเพื่อติดตามการตั้งครรภ์ใน 10-14 วัน หลังการใส่ตัวอ่อน การใช้แผ่นตรวจตั้งครรภ์ที่บ้านอาจพบผลบวกลวง (False positive) จากยา HGC ที่ฉีดกระตุ้นให้ไข่ตกได้


ความเสี่ยงในการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF/ICSI

  • การตั้งครรภ์แฝด ครรภ์แฝดเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์มากกว่าครรภ์เดี่ยว

  • ภาวะแท้งหลังการใส่ตัวอ่อน

  • Ovarian hyperstimulation syndrome (OHSS) หรือภาวะที่รังไข่ถูกกระตุ้นมากจนเกินไป

  • มีเลือดออกทางช่องคลอด

  • มีภาวะติดเชื้อ

  • การบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะ (พบน้อย)

การทำเด็กหลอดแก้วเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญในคนที่ประสบปัญหามีบุตรยาก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำมี่หลายขั้น ต้องใช้เวลา มีค่าใช้จ่ายมาก อาจสูงถึง 150,000-350,000 บาทต่อครั้ง จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลที่ทำ เปอร์เซ็นที่สำเร็จ และที่สำคัญควรเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสของการสำเร็จในการทำในครั้งแรกค่ะ


หากใครที่ยังไม่ได้เผชิญภาวะมีบุตรยาก ทางเดียวที่เราจะลดโอกาสที่ต้องเสียเงินและเจ็บตัวในการทำเด็กหลอดแก้วคือ เพื่อโอกาสให้สำเร็จโดยวิธีธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยการปฎิบัตรตามคำแนะนำของหมอ ที่พยายามเขียนข้อมูลมากมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้านะคะ


วิตามินบำรุง


หนังสือสำหรับเตรียมตัว "เส้นทางสู่การเป็นแม่ ใน 3 เดือน"



เขียนโดย

Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#IVFคือ #ICSIคือ #เด็กหลอดแก้วคือ #การทำIVFทำอย่างไร #การทำICSIทำอย่างไร #ภาวะมีบุตรยาก #รักษาภาวะมีบุตรยาก



bottom of page