top of page

การทำ Power Pumping ช่วยเพิ่มน้ำนมได้จริงหรือไม่? มีเทคนิคในการทำอย่างไร? (Power Pumping)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

แม้เราจะรู้กันดีว่า นมแม่ดีที่สุด แต่การให้นมแม่ก็อาจไม่ได้ง่ายเสมอไป คุณแม่บางท่านอาจเจอปัญหาลูกไม่เข้าเต้า จนต้องกลายเป็นคุณแม่นักปั๊ม หรือบางท่านต้องทำงาน ไม่มีเวลาปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้น้ำนมลดลง หรือที่เราเรียกว่า นมหด สร้างความกังวลและไม่สบายใจให้แม่ๆ เป็นอย่างมาก การทำ Power Pumping หรือ PP เป็น 1 ในเทคนิค ที่อาจเพิ่มปริมาณน้ำนม ให้แม่ๆ ที่มีปัญหาน้ำนมน้อย หรือ น้ำนมลดลงได้ แล้วการทำ Power Pump สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้จริงหรือไม่ แล้วมีเทคนิคในการทำอย่างไร วันนี้หมอหน่อยมีคำตอบค่ะ


แม่ๆ หลายคน อาจมีความตั้งใจที่จะให้นมแม่แก่ลูกรักให้ดีที่สุด แต่หลายครั้งคุณแม่อาจต้องเจออุปสรรคที่อาจทำให้น้ำนมมีปริมาณลดลง จนอาจไม่พอความต้องการของลูกน้อย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำนมลดลง อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น

  • ลูกน้อยเข้าเต้าไม่ดี ดูดไม่เก่ง หรือไม่เข้าเต้าเลย

  • คุณแม่กลับไปทำงาน ไม่สามารถให้นม หรือปั๊มนมได้ถี่แบบเดิม

  • คุณแม่ยุ่งจน ตกรอบการปั๊มนมบ่อยๆ

  • ลูกน้อยเริ่มนอนยาว ไม่ต้องดูดนมบ่อยๆ

  • ลูกน้อยเริ่มทานอาหาร อาจไม่ต้องดูดนมถี่แบบเดิม

  • คุณแม่ไม่สบายส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง

  • คุณแม่ทานยาที่ส่งผลให้น้ำนมลดลง

การเพิ่มน้ำนมมีหลายวิธี ทั้งแบบไม่ใช้ยา (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคเพิ่มน้ำนม) หรือ แบบให้ยาบางชนิดในการเพิ่มน้ำนม การทำ Power Pumping เป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ดี โดยไม่ต้องมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาเพิ่มน้ำนม


การทำ Power Pumping คืออะไร?


การทำ PP เป็นเทคนิคการปั๊มนม ที่เลียนแบบการดูดบ่อยๆ ของลูก (cluster feeding) ในช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือช่วงป่วย ที่ลูกจะดูดในช่วงเวลาสั้นๆ ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการกระตุ้นร่างกายให้ผลิตน้ำนมมากขึ้น เมื่อการทำ PP เลียนแบบการดูดบ่อยๆ ของลูก จึงทำให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้น การทำ PP เหมาะกับคุณแม่ที่มีน้ำนมน้อย ต้องการให้น้ำนมมากขึ้น หรือต้องการกู้น้ำนมเพื่อให้ลูกได้ดื่มนมแม่


เทคนิคการทำ Power Pumping


การทำ PP เป็นการปั๊มบ่อยๆ ในช่วงเวลาหนึ่งของวัน โดยอาจทำต่อเนื่องกัน 1-2 สัปดาห์ ขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละคน โดยเทคนิคในการทำ Power pumping มีหลายวิธี เช่น


1. ปั๊ม 60 นาทีวันละ 1 รอบ เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

  • ปั๊ม 20 นาที

  • พัก 10 นาที

  • ปั๊ม 10 นาที

  • พัก 10 นาที

  • ปั๊ม 10 นาที

2. ปั๊ม 30 นาที วันละ 2 รอบ สำหรับคนที่ไม่สามารถทำต่อเนื่อง 60 นาทีได้

  • ปั๊ม 10 นาที

  • พัก 10 นาที

  • ปั๊ม 10 นาที

3. ปั๊ม 25 นาที วันละ 5-6 รอบต่อวัน สำหรับคนที่มีเวลาไม่มากในการปั๊มนม

  • ปั๊ม 5 นาที

  • พัก 5 นาที

  • ปั๊ม 5 นาที

  • พัก 5 นาที

  • ปั๊ม 5 นาที

4. ปั๊มคล้ายการปั๊มนมปกติ แต่ปั๊มให้ถี่ขึ้นกว่าเดิม สำหรับคนที่มีเวลาในการปั๊มนม สามารถทำต่อเนื่อง 2-3 วันต่อสัปดาห์ได้ เป้าหมายคือปั๊มให้ได้ประมาณ 10 ครั้งต่อวัน

  • ปั๊มทุก 1 ชั่วโมง ครั้งละ 10 นาที

  • ปั๊มทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละ 15 นาที

5. ปั๊มขณะที่ลูกดูดนม ในขณะที่ลูกดูดนมสามารถปั๊มนมอีกข้างให้นานเท่าที่ลูกดูดจนเกลี้ยงเต้า โดยทำทุกๆ ชั่วโมง ต่อเนื่องติดต่อกันหลายๆ ชั่วโมงต่อวัน


เทคนิคเพิ่มเติมในการทำ Power Pumping

  • ควรทำให้ช่วงที่ลูกหลับ หรือมีคนดูแล ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ รอบก่อนนอนประมาณ 22-23 น. หรือ ช่วง 5.00 น. ก่อนไปทำงาน

  • เลือกเครื่องปั๊มนมที่สามารถปั๊มได้พร้อมกัน 2 ข้าง เนื่องจากจะทำให้ได้น้ำนมที่มากกว่า

  • เลือกขนาดกรวยปั๊มนมให้พอดี

  • หากิจกรรมผ่อนคลายทำตอนทำ PP เช่น ดูหนัง ดูซีรี่ หรือ ฟังเพลง

  • เตรียมน้ำไว้จิบเวลาทำ

  • ใส่ชุดชั้นในสำหรับการปั๊มนมแบบไม่ต้องจับ เพื่อให้ปั๊มนมได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

  • ทาครีมกลุ่ม Lanolin ที่หัวนม เพื่อป้องกันหัวนมแตก

  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

  • อย่าหมดหวัง เพราะบางคนอาจใช้เวลานาน 2-3 สัปดาห์กว่าจะเห็นผล

  • ชื่นชมตัวเองอยู่เสมอ ว่าคุณเป็นคุณแม่ที่ดีมากๆ แล้ว

ใครไม่ควรทำ Power Pumping


เนื่องจากการทำ Power pumping เป็นเทคนิคในการเพิ่มน้ำนม สำหรับคนที่มีน้ำนมน้อย ดังนั้น คนที่มีน้ำนมมากอยู่แล้ว ควรหลีกเลี่ยงการทำ เนื่องจากอาจจะทำให้ เต้านมคัดตึงมากยิ่งขึ้น จากการที่ผลิตน้ำนมมากเกินไป จนอาจทำให้เต้านมอักเสบ หรือท่อนมตันได้


ก่อนการทำ Power Pumping อาจลองปรึกษาคลินิคนมแม่ก่อน เนื่องจากอาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้น้ำนมน้อยลงและสามารถแก้ไขได้ เช่น ลูกเข้าเต้าไม่ถูกวิธี ดูดนมไม่ถูกวิธี หรือทานยาบางชนิดที่ทำให้น้ำนมลดลง เมื่อแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น ก็อาจทำให้น้ำนมกลับมาไหลตามปกติได้


อย่างไรก็ตาม พบว่ามีประมาณ 5% ของคุณแม่ที่มีปัญหาต่อมสร้างน้ำนมน้อย แม้การทำ PP ก็อาจไม่ได้ช่วยให้มีน้ำนมเพียงพอ การให้นมผงก็อาจมีความจำเป็นค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับแม่ๆ นะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ





เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD)


#การทำpowerpump #เทคนิคการทำpowerpump #เทคนิคการเพิ่มน้ำนมแม่







ดู 12,101 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page