top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

10 เทคนิคเพิ่มน้ำนม สำหรับคนแม่ที่ให้นมแม่ (Tips for Increasing Breast Milk Production)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่วางแผนให้นมแม่ อาจมีความกังวลลึกๆ ว่า น้ำนมจะมีเพียงพอสำหรับการเลี้ยงดู ลูกน้อยหรือไม่ และเชื่อว่าหลายคน คงอยากให้มีน้ำนมปริมาณมากพอ ที่จะเลี้ยงดูลูกน้อย หรือเพียงพอที่จะเก็บไว้เป็นสต๊อกในอนาคต วันนี้หมอหน่อยเลยจะมาแนะนำ 10 เทคนิคง่ายๆ ที่อาจจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมให้แม่ๆ ได้นะคะ


ในช่วงแรกของการให้นมแม่ มีความท้าทายหลายอย่าง ทั้งต้องลุ้นว่าลูกเราจะดูดนมเก่งรึเปล่า? จะเข้าเต้าได้หรือไม่? จะมีน้ำนมไหลมั๊ย? จะมีปัญหาการให้นมรึเปล่า? ซึ่งคุณแม่ทุกท่านจะเริ่มมีประสบการณ์ และจะค่อยๆ แก้ปัญหาบางอย่างได้ (เดี๋ยวหมอหน่อยจะค่อยๆ มาแชร์ไปเรื่อยๆ นะคะ)


การดูว่าลูกได้น้ำนมเพียงพอหรือไม่สามารถดูได้จากหลายอย่างเช่น การเจริญเติบโตตามเกณฑ์ น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้งต่อวัน อุจจาระอย่างน้อย 2 ครั้งหรือ 2 แกนกระดาษทิชชู ตัวเล็กดูร่าเริงไม่ซึม สัญญาณเหล่านี้ช่วยบอกได้ว่า ตอนนี้น้ำนมของแม่ยังเพียงพอต่อลูกน้อยค่ะ


สำหรับคุณแม่ท่านไหน ที่ยังกังวลใจกลัวน้ำนมจะไม่พอ หรือท่านไหนที่มีปัญหาน้ำนมน้อย อาจอยากรู้เทคนิคในการเพิ่มน้ำนมแม่ วันนี้หมอหน่อยเลยจะมาแนะนำ เทคนิคเพิ่มน้ำนม 10 ข้อ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ค่ะ


1.เริ่มให้นมลูกเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้


เป้าหมายในการให้นมลูกคือ ควรให้นมภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำนมในระยะยาว นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกได้ฝึกการดูดนม และได้รับความอบอุ่นจากแม่จาก Skin to Skin contact

หลังจากการให้นมในชั่วโมงแรก คุณแม่ควรต้องให้นมลูกน้อย 8-12 ครั้งต่อวัน


2. ให้นมให้ถี่หรือตามความต้องการของลูก


การผลิตน้ำนมเป็นแบบ Demand-Supply คือยิ่งความต้องการมากยิ่งผลิตมาก ในช่วง 2-3 เดือนหลังคลอด ควรให้ลูกดูดนมบ่อยตามความต้องการของลูก การดูดกระตุ้นจะส่งสัญญาณให้ร่างกายสร้างน้ำนมเพิ่มมากขึ้น กรณีลูกไม่ดูดนมจากเต้า คุณแม่อาจใช้วิธีการปั๊มนมให้ถี่ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายสร้างน้ำนมเพิ่มมากขึ้น ยิ่งน้ำนมถูกเอาออกไปมากเท่าไหร่ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมมากขึ้นเท่านั้น วิธีนี้จะเป็นวิธีการเพิ่มน้ำนมที่ได้ประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก


3. ปั๊มนมระหว่างมื้อให้นม


ยิ่งน้ำนมเกลี้ยงเต้ามากเท่าไหร่ การผลิตน้ำนมยิ่งมากขึ้น และเร็วขึ้นเท่านั้น (Empty breast fill faster) เมื่อน้ำนมเกลี้ยงเต้า ร่างกายจะพยายามผลิตน้ำนมมาเติมเต็มให้เร็วขึ้น วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้น้ำนมเกลี้ยงเต้าเรื่อยๆ คือ การปั๊มนมระหว่างมื้อ เช่น ลูกดูดนมทุก 3 ชั่วโมง อาจปั๊มนมช่วงกลางประมาณ 10 นาที เพื่อให้เต้านมเกลี้ยงเต้ามากขึ้น หรือปั๊มหลังลูกดูดเพื่อให้นมเกลี้ยงเต้า โดยควรใช้เครื่องปั๊มนม ที่สามารถปั๊มนมพร้อมกัน 2 ข้างได้ เนื่องจากพบว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้มากขึ้นถึง 18% (1)


4. ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น


เนื่องจาก 90% ของน้ำนมคือน้ำ น้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการผลิตน้ำนม ในช่วงให้นม ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน และดื่มน้ำอย่างน้อย 250 ml ทุกครั้งหลังให้นม เทคนิคในการดื่มน้ำเปล่าคือ จิบบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน หรือช่วงเวลาที่กระหายน้ำ และพยายามพกน้ำเปล่าติดตัวเสมอ สัญญาณหนึ่งที่ช่วยบอกว่าร่างกายมีการผลิตน้ำนมคือ การที่ร่างกายกระหายน้ำนั่นเอง


5. นอนพักให้มากขึ้น ลดสิ่งรบกวนที่ทำให้เครียดหรือเหนื่อย


การนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ร่างกายสามารถเพิ่มการผลิตน้ำนมมากขึ้น นอกจากนี้ควรลดสิ่งรบกวนที่อาจทำให้เครียดหรือเหนื่อย เช่นการทำงานบ้าน ซักผ้า ทำอาหาร ซึ่งอาจทำให้ดึงความสนใจจากการให้นมออกไป และอาจส่งผลต่อการให้นมลูกหรือการผลิตน้ำนมได้

ดังนั้น ช่วงให้นมลูก จึงอาจต้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง เช่น คุณพ่อ คุณตาคุณยาย คุณปู่คุณย่า หรือแม่บ้าน ให้ช่วยดูแลงานบ้านอื่นๆ เพื่อที่คุณแม่จะมีเวลาในการให้นมลูกมากขึ้นค่ะ


6.ทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้พลังงานที่เพียงพอ


ในช่วงให้นมลูก ร่างกายของแม่จะต้องการพลังงานมากขึ้น 400-500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ดังนั้น ควรทานอาหารให้ได้พลังงานที่เพียงพอ เช่น โปรตีน ไขมันดี คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน รวมถึง ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น การทานอาหารควรเลือกอาหารที่หลากหลาย ปรุงให้สุก หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองค่ะ


7.ทานอาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนม


พืชผัก และอาหารบางชนิด มีสารอาหารที่อาจช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ ควรเลือกพืชผักเหล่านี้มาประกอบอาหาร ทานให้หลากหลายในแต่ละวัน โดยอาหารที่เชื่อว่าสามารถเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ เช่น

  • หัวปลี

  • ฟักทอง

  • ขิง

  • ใบกระเพา

  • พริกไทย

  • ตำลึง

  • มะละกอ

  • ข้าวโอ๊ต

  • มันหวาน เป็นต้น

8. การทำ Power Pumping


การทำ Power pumping เป็นการปั๊มนมเป็นรอบๆ เลียนแบบการดูดของลูก เพื่อบอกร่างกายว่าต้องการน้ำนมมากขึ้น ทำให้ร่างกายสร้างน้ำนมเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง โดยการทำ Power pumping จะให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จะมีการปั๊มสลับกับการหยุดพักคือ

  1. ปั๊ม 20 นาที

  2. พัก 10 นาที

  3. ปั๊ม 10 นาที

  4. พัก 10 นาที

  5. ปั๊ม 10 นาที

ในกรณีที่น้ำนมน้อยต้องการให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น อาจทำ 1-2 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ไม่แนะนำให้ทำ Power pumping ในคนที่มีน้ำนมมากอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้เต้านมคัดตึงมากยิ่งขึ้นได้ค่ะ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคการทำ Power Pumping)



9. ทานสมุนไพรเพิ่มน้ำนม


เชื่อว่าสมุนไพรบางชนิดสามารถที่จะเพิ่มการสร้างน้ำนมได้ สมุนไพรเหล่านั้นได้แก่

  • Fenugreek

  • Blessed thistle

  • Fennel

  • Milk thistle เป็นต้น

อย่างไรก็ตามก่อนการทานสมุไพรเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องการให้นมแม่ เพื่อขอความคิดเห็นก่อนเสมอค่ะ


10. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอร์ หรือยาที่อาจลดการสร้างน้ำนม


พบว่าการดื่มแอลกอฮอร์ หรือ การสูบบุหรี่ จะทำให้การสร้างน้ำนมลดลง รวมถึงยาลดน้ำมูกกลุ่ม pseudoephedrine ก็อาจทำให้การสร้างน้ำนมลดลงเช่นกัน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงค่ะ


นี่ก็จะเป็นเทคนิคการเพิ่มน้ำนมง่ายๆ ที่แม่ๆ สามารถทดลองทำได้ ซึ่งหมอหน่อยเองก็ได้ทดลองทำในทุกวิธีข้างต้นนี้ และได้ผลค่อนข้างดี ทำให้มีน้ำนมเพียงพอที่จะให้ลูกดื่ม และยังเพียงพอที่จะเก็บไว้ให้ลูกดื่มในอนาคตด้วยค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อแม่ๆ และช่วยให้แม่ๆ สามารถเพิ่มน้ำนมของตัวเองได้นะคะ ขอให้น้ำนมของทุกคนไหลมาเทมาค่ะ


แล้วมาติดตามบทความดีๆ กันใหม่นะคะ





เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


#เทคนิคเพิ่มน้ำนม #ทำอย่างไรให้นมแม่เพิ่มขึ้น #อยากมีนมแม่เยอะๆต้องทำอย่างไร



ดู 2,584 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários


bottom of page