ในปัจจุบัน แม่ๆ หลายคนยังต้องเป็น working mom คือต้องกลับไปทำงานหลังลาคลอด ซึ่งถ้าคุณแม่วางแผนให้นมแม่กับลูก การปั๊มนมในที่ทำงาน ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องวางแผนให้ดี เพื่อที่จะทำให้ทั้งการทำงาน และการปั๊มนมราบรื่นค่ะ วันนี้หมอหน่อยมาแชร์ เทคนิคการปั๊มนม เมื่อต้องกลับไปทำงาน ที่หมอหน่อยใช้จริง เผื่อแม่ๆ จะนำไปปรับให้เหมาะกับตัวเองนะคะ
ในปัจจุบัน ที่ทำงานหลายๆ ที่ได้เปิดกว้างและเข้าใจ ความสำคัญของการให้นมแม่ และเข้าใจบริบทของแม่ลูกอ่อน ที่อาจจะต้องมีการปั๊มนมในช่วงเวลางาน หากที่ทำงานของแม่ท่านไหน ที่เข้าใจและอนุญาตให้คุณแม่ มีเวลาบางช่วงในการปั๊มนม ก็จะสามารถอำนวยความสะดวกให้การปั๊มนมราบรื่นขึ้น
เทคนิคในการปั๊มนมในที่ทำงาน
1. เลือกเครื่องปั๊มนมที่สามารถปั๊มพร้อมกันได้ 2 ข้าง
เนื่องจากในช่วงเวลาที่เราทำงาน อาจมีเวลาไม่มากที่เราจะสามารถปั๊มนมได้ การปั๊มนมพร้อมกัน 2 ข้างจะช่วยประหยัดเวลาในการปั๊มนม เครื่องปั๊มนมที่ปั๊มพร้อมกัน 2 ข้าง เมื่อปั๊ม 10-15 นาที จะเทียบเท่ากับการปั๊มทีละข้างถึง 30 นาที นอกจากนี้ การปั๊มพร้อมกัน 2 ข้างยังช่วยให้ปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น 18-20% รวมทั้งได้น้ำนมที่ข้นกว่าการปั๊มเพียงข้างเดียวอีกด้วย
2. วางแผนตารางการปั๊มนมให้เป็นกิจวัตร
ตามปกติ เราจะต้องปั๊มนมทุก 3-4 ชั่วโมง ดังนั้นควรมีการวางแผนการปั๊มนมและการให้นมลูก ให้เป็นตารางที่ชัดเจน เพื่อให้ไม่หลงลืมในการปั๊มในแต่ละวัน โดยหมอแนะนำ ให้ปั๊มในช่วงเวลาใกล้เคียงกับช่วงที่ลูกดูดนมเราที่บ้าน และจัดตารางให้นมลูกให้ใกล้เคียงช่วงเวลาที่ต้องปั๊มนม เพื่อลดการปั๊มนมแต่เปลี่ยนเป็นการให้ลูกดูดเองแทน
ตัวอย่างการจัดตารางการปั๊มนม : กรณี แม่ทำงาน 7 โมงเช้า
6 โมงเช้าให้นม ก่อนออกจากบ้าน
9 โมงเช้า ปั๊มนมรอบที่ 1
เที่ยง ปั๊มนมรอบที่ 2
บ่าย 3 ปั๊มนมรอบที่ 3
กลับถึงบ้าน 6 โมงเย็น ให้นมลูก
จะเห็นได้ว่า คุณแม่จะปั๊มนมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน และใกล้เคียงกับเวลากินของลูกปกติ วิธีนี้จะช่วยให้น้ำนมสร้างสม่ำเสมอ ได้กระตุ้นการสร้างน้ำนมอยู่ตลอดค่ะ
3. หาสถานที่สำหรับปั๊มนม และสถานที่สำหรับเก็บน้ำนม/กรวยปั๊มนม
สถานที่ในการปั๊มนมเป็นอีกเรื่องที่ควรหาข้อมูล อาจต้องดูสถานที่ทำงานของแต่ละท่านว่ามีสถานที่ไหนบ้างที่พอจะใช้ในการปั๊มนมได้ ซึ่งสถานที่ปั๊มนม ควรเป็นห้องปิด มีเก้าอี้นั่งสบาย มีโต๊ะสำหรับวางของ มีปลั๊กไฟ เผื่อกรณีเครื่องปั๊มต้องเสียบปลั๊ก หรือหากจำเป็นต้องปั๊มนมบนโต๊ะทำงาน ก็ควรเป็นพื้นที่ ที่เป็นสัดส่วน เป็นส่วนตัว
นอกจากนี้ ยังต้องวางแผนหาสถานที่ในการเก็บน้ำนมสต๊อกและกรวยปั๊มนม เช่น มีตู้เย็นไหนบ้างที่สามารถเก็บน้ำนมและน้ำแข็งได้ แม้ว่าคุณแม่จะมีกระเป๋าเก็บความเย็นและน้ำแข็งไปด้วย แต่ความเย็นมักจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หากมีที่ ที่สามารถเก็บน้ำนมนมและน้ำแข็งช่วงที่กลางวัน และสามารถนำกลับบ้านในขณะที่ทั้งนมและน้ำแข็งเย็นอยู่ ก็จะช่วยรักษาคุณภาพของนมแม่ได้ดีกว่า
4. ช่วงปั๊มนม ควรเป็นช่วงที่ผ่อนคลาย
ในช่วงปั๊มนม ควรเป็นช่วงที่คุณแม่ได้ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดเรื่องงาน โดยควรแจ้งผู้ร่วมงานให้ทราบ เพื่อขอเวลาช่วงสั้นๆ ในการปั๊มนมอย่างมีความสุข
ในช่วงปั๊มนม อาจเตรียมน้ำ หรือเครื่องดื่ม ที่ทำให้สดชื่น อาจเตรียมตัวแทนลูกที่สามารถใช้ดูระหว่างการปั๊มนมได้ เช่น รูปของลูก วีดีโอลูก เสื้อผ้าลูก เพราะ การคิดถึงลูกจะกระตุ้นให้น้ำนมไหลดีขึ้น
5. วางแผนเรื่องอุปกรณ์สำหรับปั๊มนม
เครื่องปั๊มนม ควรเป็นเครื่องที่มีขนาดเล็ก พกพาได้ง่าย มีแบตเตอรีในตัว กรณีที่ไม่สามารถหาที่เสียบปลั๊กก็ยังสามารถใช้งานได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง เทคนิคการเลือกเครื่องปั๊มนม) นอกจากนี้ควรเตรียมอุปกรณ์ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
ผ้าคลุมให้นม เพื่อไม่ให้โป๊ะ
อุปกรณ์ปั๊มนม พวกกรวยปั๊ม ขวดเก็บน้ำนม อาจต้องเตรียมเผื่อ 2-3 ชุด ถ้าตามหลักการแล้ว ควรเปลี่ยนกรวยปั๊มนมใหม่ทุกครั้ง แต่หากไม่สามารถทำได้ ควรมีการเปลี่ยนกรวยปั๊มนมหลังการปั๊มนม 2-3 รอบ โดยสามารถเก็บกรวยปั๊มที่ใช้แล้วในถุงซิบล๊อค แล้วแช่ตู้เย็นไว้ได้
อาจเลือกกรวยแบบ Hand free กรณีที่จำเป็นต้องนั่งปั๊มนมที่โต๊ะทำงาน เพื่อความสะดวกในการปั๊มนม
ถุงเก็บน้ำนม เพื่อใช้เก็บสต๊อกน้ำนมที่ปั๊มได้ ควรเป็นถุงที่แข็งแรง ไม่แตกง่าย
อย่างไรก็ตาม เทคนิคการปั๊มนมในที่ทำงาน อาจแตกต่างไปในแต่ละคน และบริบทของการทำงานนะคะ หมอหน่อยหวังว่าบทความนี้ อาจพอทำให้คุณแม่ได้แนวทางในการวางแผนการปั๊มนมเมื่อต้องกลับไปทำงานในแบบของตัวเองค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
댓글