top of page

มีลูกคนแรกแล้ว ทำไมมีคนถัดไปยากจัง? (What is secondary infertility?)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

ถ้าคุณเคยมีลูกมาก่อนหน้านี้ และครั้งที่แล้วก็สำเร็จด้วยความง่ายดาย แต่พออยากจะมีอีกซักคน ทำไมรอบนี้ถึงสำเร็จยากเหลือเกิน และอยากรู้สาเหตุว่าทำไมรอบนี้ถึงมีลูกยาก? และมีทางไหนที่เราจะทำได้บ้างเพื่อเพิ่มโอกาสให้มีลูกสำเร็จได้เร็วขึ้น วันนี้หมอหน่อยมีความรู้ดีๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ



อะไรคือ Secondary infertility?


โดยปกติเราจะแบ่งภาวะมีบุตรยากออกเป็น 2 แบบคือ

  1. Primary infertiltiy คือภาวะมีบุตรยากในคนที่ไม่เคยมีลูกมาก่อน โดยได้พยายามมีลูกมาแล้วมากกว่า 1 ปีหรือมากกว่า 6 เดือนในคนที่อายุมากกว่า 35 ปี

  2. Secondary infertility คือภาวะมีบุตรยากที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เคยมีลูกมาแล้วก่อนหน้านี้


จริงๆแล้วภาวะ Secondary infertility ไม่ได้แตกต่างจากภาวะมีบุตรยากแบบ Primary infertility โดยสาเหตุต่างๆ ใกล้เคียงกันมาก คือสาเหตุอาจมาจากช่วงใดช่วงหนึ่งของกระบวนการปฏิสนธิ ไปจนถึงการฝังตัวของตัวอ่อนล้มเหลว แต่เนื่องจากภายหลังการมีบุตรคนแรก ความสมบูรณ์ของร่างกายของบิดาและมารดาอาจเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดปัญหาในช่วงใดช่วงหนึ่ง ในขั้นตอนต่างๆต่อไปนี้


  1. การตกไข่ (Ovulation)

  2. การปฎิสนธิของไข่กับสเปิร์ม (Fertilization)

  3. การเดินทางของตัวอ่อน เพื่อไปฝังตัวที่มดลูก (Travel of the fertilized egg to the uterus)

  4. การฝังตัวที่มดลูกของตัวอ่อน (Implantation of the fertilized egg in the uterus)

โดยหากเกิดความผิดปกติของขั้นตอนใด ขั้นตอนหนึ่ง ก็ส่งผลให้ล้มเหลวในการมีลูกได้ โดยความผิดปกติอาจมาจากฝั่งของมารด หรือ ฝั่งของบิดา หรือเป็นความผิดปกติของทั้งคู่ก็ได้ ซึ่งต้องทำการหาสาเหตุเพิ่มเติม


สาเหตุของภาวะมีบุตรยากในภายหลัง (What cause secondary infertility?)


จริงๆแล้วสาเหตุของภาวะมีบุตรยากแบบ Secondary infertility ไม่แตกต่างจากภาวะมีบุตรยากแบบ Primary infertility เนื่องจากร่างกายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ภายหลังจากการมีบุตรในครั้งแรก ทำให้อาจเกิดภาวะมีบุตรยากได้ ซึ่งสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในภายหลังที่พบได้บ่อยคือ


1.การตกไข่ผิดปกติ (Ovulation disorder)


พบว่าการตกไข่ที่ผิดปกติเป็นสาเหตุมีบุตรยากอันดับต้นๆในหญิงวัยเจริญพันธ์ุ เมื่อการตกไข่ผิดปกติก็ส่งผลให้โอกาสมีลูกสำเร็จยากขึ้น สาเหตุที่ทำให้ไข่ตกผิดปกติที่พบได้บ่อยคือ

  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS

  • จำนวนไข่ปริมาณลดลงจากอายุที่มากขึ้น

  • ภาวะน้ำหนักตัวที่มากไปหรือน้อยไป

  • ความผิดปกติของฮอร์โมนต่างๆ เช่นไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

  • ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด (อ่านเรื่องวิตามินบำรุงไข่)

  • อาหารบางชนิดที่รบกวนการตกไข่ เป็นต้น


2. ปัญหาที่ท่อนำไข่ หรือ มดลูก (Problems with the uterus or fallopian tubes)


ความผิดปกติทางกายภาพต่างๆ อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการมีบุตรคนก่อน และอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในภายหลังได้

  • ท่อนำไข่ตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางไปเจอสเปิร์มได้

  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis (อ่านเพิ่มเติม)

  • เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri)

  • ผังผืดบริเวณมดลูก เป็นต้น


3. ความผิดปกติในฝ่ายชาย (Male infertility)


เมื่อเวลาผ่านไป สุขภาพของฝ่ายชายอาจมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงคุณภาพของสเปิร์มก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจาก อายุที่มากขึ้น หรือมลภาวะต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยในฝ่ายชายคือ

  • คุณภาพของสเปิร์มแย่ลง

  • ท่อนำอสุจิผิดปกติ

  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

  • ปัญหานกเขาไม่ขัน หรือ Erectile dysfunction

  • ฮอร์โมนเพศชายต่ำลง (อ่านเรื่องการเพิ่ม Testosterone)


4, อายุที่มากขึ้น (Age)


อายุที่มากขึ้น ส่งผลในทางลบกับทั้งฝ่ายหญิงและชาย หญิงที่มีอายุมากขึ้นโดยเฉพาะหญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ทั้งปริมาณและคุณภาพของไข่จะลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ง่ายมากยิ่งขึ้น (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การมีลูกในคนอายุมากกว่า 35 ปี)

ในชายที่มีอายุมากขึ้น ส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ลดลง ส่งผลให้การสร้างสเปิร์มและคุณภาพของสเปิร์มแย่ลง ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ง่าย


5. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections)


การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ สามารถทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ อาจส่งผลต่อเนื่องให้ท่อนำไข่ตัน เกิดผังผืดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด อาจทำให้เป็นอันตรายต่อสเปิร์ม ลดโอกาสมีลูกได้ ดังนั้น ยิ่งทำการรักษาเร็ว ยิ่งส่งผลดีต่อระบบสืบพันธ์มากขึ้น



การรักษาภาวะมีบุตรยากในภายหลัง (Treatment for secondary infertility)


ในคนที่เคยมีลูกมาก่อน อาจจะไม่ง่ายที่จะยอมรับว่าตนมีปัญหา เนื่องจากการประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ทำให้การยอมรับในปัญหาอาจยากขึ้นในบางคน แต่อย่างที่หมอกล่าวไปในข้างต้น เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายของเราก็เปลี่ยนแปลงได้ และอาจเกิดปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน ดังนั้นการรักษาในคนที่มีปัญหามีบุตรยากภายหลัง คือต้องหาสาเหตุ และแก้ไขสาเหตุนั้นๆ โดยควรปรึกษาแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยากเพิ่มเติม โดยแพทย์อาจจะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจเลือด เพื่อดูระดับฮอร์โมนต่างๆ

  • ตรวจภายใน เพื่อดูความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน

  • ตรวจน้ำอสุจิของฝ่ายชาย

  • ตรวจ Ultrasound ทางช่องคลอด

  • ตรวจท่อนำไข่


โดยหากหาสาเหตุได้ แพทย์จะทำการแก้ไขสาเหตุ และสามารถเพิ่มโอกาสมีลูกได้สำเร็จได้ ทั้งยังได้วางแผนการรักษาปัญหามีบุตรยากเพิ่มเติม เนื่องจากหากอายุมากขึ้น โอกาสมีลูกได้เองตามธรรมชาติก็ลดลงเช่นกัน


อย่าลืมว่า "ปัญหามีบุตรยากไม่ใช่ความผิดของคุณ" ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมากเอง ทางหนึ่งที่เราจะสามารถลดปัญหามีบุตรยากในภายหลังได้ คือการเตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดี ในทุกๆครั้งของการวางแผนตั้งครรภ์ เมื่อเราเริ่มคิดอยากจะมีลูก ควรเริ่มเตรียมตัวให้ดีเสมอ ให้เริ่มดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่ดี ทานวิตามินบำรุง เพื่อเพิ่มโอกาสให้การตั้งครรภ์ครั้งหน้า เป็นไปได้อย่างราบรื่น และ เป็นการตั้งครรภ์ที่แข็งแรงค่ะ


วิตามินบำรุง เพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ :https://www.drnoithefamily.com/products





Tantawan Prasopa (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#วางแผนมีลูก #อยากมีลูก #เตรียมตัวท้อง #เตรียมพร้อมตั้งครรภ์ #ปัญหามีบุตรยาก #ปัญหามีบุตรยากภายหลัง #infertility





ดู 3,909 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page