การให้นมแม่ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายมากๆ สำหรับคุณแม่ทุกคน แม่นมแม่จะดีที่สุด แต่การให้นมแม่ โดยเฉพาะในช่วงแรก ก็ไม่ได้ง่าย เนื่องจากมักจะมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการให้นม วันนี้หมอหน่อยจะมาพูดถึงปัญหาในช่วงให้นมแม่ที่พบได้บ่อย และแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นๆ ค่ะ
1. เจ็บเวลาลูกเข้าเต้า (Latching pain)
เชื่อได้ว่าปัญหานี้พบได้เกือบ 100% ของคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งเคยให้ลูกเข้าเต้า ซึ่งแน่นอนเป็นครั้งแรกของคุณแม่ ก็เป็นครั้งแรกของลูกน้อยเช่นกัน ประกอบกับช่วงหลังคลอดใหม่ๆ เต้านมและหัวนมของแม่จะคัดตึงและไวต่อความรู้สึกมาก ส่งผลให้อาจรู้สึกเจ็บเวลาที่ลูกเริ่มดูดนมแรกๆ ได้ ซึ่งตามปกติแล้ว อาการเจ็บมักจะค่อยๆ ดีขึ้น หากยังมีอาการเจ็บอยู่ตลอด อาจต้องระวังว่า ลูกอาจดูดไม่ถูกวิธี หรือ ท่าในการเข้าเต้าไม่ถูกวิธีค่ะ
แนวทางในการแก้ไข : ปรึกษาคลินิคนมแม่ เพื่อเรียนรู้เทคนิคการพาลูกเข้าเต้า หรือการให้ลูกดูดนมอย่างถูกวิธี จะสามารถช่วยลดอาการเจ็บเวลาเข้าเต้าได้
2. เจ็บหัวนม หัวนมแตก (cracked nipples)
อาการนี้ก็พบได้บ่อยในช่วงแรกของการให้นมเช่นกันค่ะ ซึ่งอาการเจ็บหัวนมมักจะเป็นในช่วง 1-2 นาทีแรกของการให้นม แล้วจะค่อยๆ ลดลง แต่อาการเจ็บมักจะมีลักษณะเหมือนมีเข็มมาทิ่ม บางครั้งถึงกับร้องไห้เพราะความเจ็บเลยทีเดียว ซึ่งอาการเจ็บหัวนมนี้มักจะเริ่มดีขึ้นประมาณ 3-4 สัปดาห์หลังจากที่การให้นมลูกราบรื่นขึ้น ถ้าไม่ดีขึ้น อาจต้องดูว่ายังมีสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ เช่น
ลูกยังเข้าเต้าไม่ถูกวิธี
กรวยปั๊มนมไม่ได้ขนาด หรือ ดูดแรงเกินไป
มีแผลที่หัวนม
แนวทางการแก้ไขอาการหัวนมแตก : หลักๆ คือเข้าเต้าให้ถูกวิธี ป้องกันไม่ให้หัวนมแห้ง อาจทาครีมให้ความชุ่มชื่นกลุ่ม Lanolin ที่หัวนมหลังลูกดูดนม หรือ ทาหัวนมด้วยน้ำนมก็ได้เช่นกัน
3. เต้านมคัดตึง (Engorgement)
อาการเต้านมคัดตึงมักเกิดได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงแรกหลังคลอด เนื่องจากร่างกายยังไม่รู้ว่าต้องผลิตน้ำนมประมาณเท่าไหร่ จึงอาจผลิตมาเยอะมากเกินความต้องการ ร่วมกับการที่ลูกยังดูดไม่เก่ง หรือดูดไม่หมดเต้า หรือการปั๊มนมห่างจนเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการคัดตึงเต้านมได้
แนวทางในการแก้ไข: ประคบร้อนบริเวณเต้านมก่อนลูกดูดนม หลังลูกดูดควรปั๊มนมหรือบีบนมออกให้เกลี้ยงเต้า อาจประคบเย็นหลังปั๊มเพื่อลดอาการปวด นวดเต้านมเพื่อให้นมระบายได้ดีขึ้น ใส่ชุดชั้นในที่ไม่รัดจนเกิดไป
4. ท่อนมตัน (Clogged Ducts)
ปัญหาท่อนมตัน ก็พบได้บ่อยมาเช่นกัน ซึ่งมักจะมาจากการที่ระบายน้ำนมออกได้ไม่ดี หรือออกไม่หมด ส่งผลให้เกิดการอุดตันที่ท่อน้ำนม ทำให้เกิดก้อนแข็ง บวม เจ็บได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องท่อน้ำนมอุดตัน)
แนวทางในการแก้ไข: การแก้ไขปัญหานี้คือการระบายน้ำนมออกให้ดี เกลี้ยงเต้า ให้หรือปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ อาจประคบอุ่นก่อนการให้นมหรือปั๊มนม การทาน Lecithin ก็สามารถช่วยลดปัญหานี้ได้
5. เต้านมอักเสบ (Mastitis)
คือมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่เต้านม มักจะเป็นข้างเดียว จะมีอาการ ปวด บวม แดง ร้อน อาจมีไข้ ปวดเมื่อยร่างกายร่วมด้วย เกิดจากการที่มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในเต้านม ซึ่งอาจเกิดมาจากปัญหา ท่อนมตัน เต้านมคัดตึง หรือหัวนมแตกก็ได้
แนวทางในการแก้ไข: การรักษาคือการได้รับยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม และการระบายน้ำนมออกให้ได้ดีที่สุด เพราะการที่น้ำนมถูกระบายไม่หมด อาจยิ่งทำให้อาการเต้านมอักเสบแย่ลงกว่าเดิม
6. น้ำนมไหลน้อย ไม่เพียงพอ (Low milk supply)
สาเหตุหลักที่ให้นมแม่ไม่สำเร็จคือ แม่คิดว่าน้ำนมไม่เพียงพอ ทำให้หันไปให้ลูกทานนมผงแทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพบน้อยมากที่น้ำนมของแม่จะสร้างไม่พอจริงๆ เนื่องจากยิ่งกระตุ้นมาก น้ำนมจะยิ่งสร้างมากขึ้น โดยการดูว่าน้ำนมเพียงพอหรือไม่ สามารถดูได้จากน้ำหนักของลูกน้อยในช่วง 1 เดือนแรก ที่จะเพิ่ม 20-30 กรัมต่อวัน ปัสสาวะประมาณ 6 ครั้งต่อวัน หรือถ่าย 2 ครั้งต่อวัน
แนวทางในการแก้ไข: หลักๆ คือยิ่งระบายมาก ยิ่งสร้างมาก คุณแม่อาจต้องให้ลูกเข้าเต้า หรือปั๊มนมบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมมากขึ้น หรือใช้เทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติมในการเพิ่มน้ำนม (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคการเพิ่มน้ำนม)
นี้เป็น 6 ปัญหาที่สร้างความหนักใจ และสร้างความท้าทายให้แม่ๆ ในการให้นมแม่ไม่น้อย แต่เชื่อหรือไม่คะว่า ถ้าแม่ๆ สามารถผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้ ซึ่งมักจะเกิดในช่วง 1-2 เดือนแรก การให้นมแม่ จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และสามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นค่ะ
สำหรับหมอหน่อยเอง ช่วงแรกก็เจอปัญหาต่างๆ เหล่านี้ แต่ก็สามารถผ่านมาได้ด้วยเทคนิคที่ได้เขียนแนะนำ จนตอนนี้การให้นมแม่ เป็นเหมือนกิจวัตรประจำวัน ที่มีแต่สร้างความสุขทุกครั้งที่เห็นลูกกินอิ่ม และเติบโตอย่างสมวัยค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ทุกคนนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments