top of page

10 ข้อ สำหรับตรวจสอบว่าคุณมีปัญหามีลูกยากหรือไม่? (Checklist of Possible Infertility Signs)

อัปเดตเมื่อ 28 มี.ค. 2566

ว่าที่คุณแม่ท่านไหน ที่กำลังสงสัยว่าตนเองมีบุตรยากรึเปล่า? วันนี้หมอหน่อยมี checklist ง่ายๆ มาลองให้ทุกคนตรวจสอบดูนะคะว่า คุณมีโอกาสที่จะมีปัญหามีบุตรยากรึเปล่า ถ้ามีข้อเหล่านี้อยู่จะได้รีบปรึกษาแพทย์ได้เร็วขึ้นค่ะ


1.ประจำเดือนผิดปกติ

รอบเดือนมากกว่า 35 วัน (รอบเดือนนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน ไปจนถึงวันสุดท้ายก่อนประจำเดือนจะมาในเดือนถัดไป) หรือมีประจำเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งต่อปี ซึ่งอาจจะมาจากการที่คุณมีปัญหาไข่ไม่ตกเรื้อรัง หรือเป็น PCOS (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง PCOS) หรือการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ผิดปกติได้


2. ประจำเดือนมามาก มานาน หรือน้อยผิดปกติ

ตามปกติแล้ว ประจำเดือนของผู้หญิงโดยทั่วไปคือ จะมีประจำเดือน 3-5 วัน โดยจะปริมาณเยอะในวันแรกๆ และลดน้อยลงในวันถัดไป หากประจำเดือนผิดปกติคือ ประจำเดือนมามาก (เต็มแผ่นตลอดต้องเปลี่ยนทุกๆ 2 ชั่วโมง) หรือมานานมากกว่า 7 วัน ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของตัวมดลูก (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเนื้องอกมดลูก) หรือการทำงานของฮอร์โมนบางตัวที่ผิดปกติได้

ในขณะเดียวกัน หากมีประจำเดือนน้อยลงจากเดิม คือมาแค่กระปิดกระปอยไม่ปกติ อาจมีความผิดปกติที่ผนังมดลูก หรือการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างผนังมดลูกผิดปกติได้


3. มีอาการปวดประจำเดือนมากผิดปกติ

ตามปกติแล้วอาการปวดประจำเดือนมักจะเป็นต่อเนื่องมากตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน บางคนมีอาการปวดประจำเดือนเป็นประจำ บางคนไม่มีอาการปวดประจำเดือนเลย

อาการปวดประจำเดือนตามปกติมักจะมีอาการก่อนประจำเดือนจะมา 1-2 วันและหายไปหลังประจำเดือนมา 1-2 วัน และมักจะดีขึ้นหลังทานยาแก้ปวด หากมีอาการปวดมากไม่หายจากการทานยา หรือ มีอาการปวดยาวนาน หรือ มีอาการปวดประจำเดือนหลังจากที่ไม่เคยปวดมาก่อน อาจมีความผิดปกติได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ เนื้องอกมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Endometriosis) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้


4. มีอาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์

อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดการการมีผังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือมีการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มีลูกยากได้


5. อายุที่มากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 35 ปี อาจเพิ่มโอกาสทำให้มีบุตรยากได้ เนื่องจากปริมาณไข่ที่น้อยลง และคุณภาพไข่ที่แย่ลง ตามปกติคนที่มีอายุ 20-30 ปีจะมีโอกาสมีลูกได้ 20-25% ต่อเดือน แต่เมื่ออายุมากกว่า 37 ปี โอกาสสำเร็จจะเหลือไม่ถึง 10% ต่อเดือน และน้อยกว่า 5% ต่อเดือน เมื่ออายุมากกว่า 40 ปี (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง เทคนิคมีลูกในคนที่มากกว่า 35 ปี)


6. มีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป

น้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไป อาจส่งผลต่อเนื่องถึงการทำงานของฮอร์โมนเพศ รวมถึงการตกไข่ รวมถึงโอกาสที่จะมีลูกด้วย น้ำหนักตัวที่เหมาะสมในการมีลูกคือ BMI 20-24 หากมี BMI ที่มากหรือน้อยเกินไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่มำให้มีลูกยากได้


7. มีโรคทางฮอร์โมน หรือโรคประจำตัวบางอย่าง

โรคทางฮอร์โมนบางชนิด เช่นไทรอยด์ทำงานน้อย หรือมากเกินไป หรือ ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ หรือต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ อาจส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีลูกผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้

เช่นเดียวกันโรคประจำตัวบางชนิด เช่นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติก็อาจส่งผลให้มีลูกยาก หรือเพิ่มโอกาสแท้งมากขึ้นในบางราย


8. มีความเครียดเรื้อรังสะสม

ความเครียดแม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุหลักของการมีลูกยาก แต่มีส่วนสำคัญในหลายๆ ด้าน การที่มีความเครียดมากอาจทำให้ไข่ไม่ตก หรือตกผิดปกติ รวมถึงอาจทำให้การสร้างผนังมดลูกแย่ลง หรือตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวได้ การมีความเครียดสะสมนาน จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้เช่นกัน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องความเครียดกับการมีลูก)


9. ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด

วิตามินและเกลือแร่บางชนิดมีผลต่อการมีลูกยากง่ายทั้งหญิงและชาย วิตามินและเกลือแร่ที่มีบทบาทสำคัญต่อการมีลูก เช่น วิตามินดี โฟเลต ธาตุเหล็ก หรือ สังกะสี ซึ่งหากขาดสารอาหารเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกยากได้เช่นกัน

ดูวิตามินบำรุงสำหรับคนอยากมีลูก : https://www.drnoithefamily.com/products


10. ไม่มีลูกหลังจากพยายามมานาน

ตามปกติแล้ว โอกาสมีลูกสำเร็จในคนวัยเจริญพันธุ์จะอยู่ที่ 85% ภานใน 1 ปี ดังนั้นหากคุณมีอายุน้อยกว่า 35 ปีและทดลองมีลูกเองมากกว่า 1 ปีแล้วไม่สำเร็จ หรือคุณมีอายุมากกว่า 35 ปีดลองมามากกว่า 6 เดือนแล้วไม่สำเร็จ จะจัดอยู่ในกลุ่มมีบุตรยาก ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ เพิ่มเติม


หลังจากลองตรวจสอบ Checklists ต่างๆ นี้แล้ว คุณมีข้อไหนที่เข้าได้บ้างคะ? ถ้าตรวจสอบแล้วคุณมีบางข้อมี่อาจเป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยาก ขั้นตอนต่อไปคือการค่อยๆ แก้ไขที่ละสาเหตุ บางสาเหตุคุณสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม หรือการทานวิตามินบำรุง แต่บางสาเหตุ อาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ค่ะ อย่ากลัวหรืออายในการปรึกษาเรื่องมีบุตรยาก เพราะการแก้ไขและรักษาที่ถูกต้อง จะเพิ่มโอกาสที่คุณจะประสบความสำเร็จในการมีลูกเร็วขึ้นค่ะ


หมอหน่อยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ


หนังสือที่จะช่วยให้คุณมีลูกง่ายขึ้น





เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) drnoithefamily


#ภาวะมีบุตรยาก #มีลูกยากเพราะอะไร #สาเหตุมีบุตรยาก #อยากมีลูกทำอย่างไร



bottom of page