top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

6 อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หากกำลังพยายามมีลูก (6 foods to avoid while trying to conceive)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะเมื่อคุณเริ่มวางแผนที่จะตั้งครรภ์นะคะ แต่มีอาหารบางประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะเมื่อวางแผนจะมีลูก อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง? วันนี้ไปติดตามรายละเอียดกันค่ะ



สำหรับคนที่วางแผนจะมีลูก อาหารถือเป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญ เพราะการกินอาหารที่ดีส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม และส่งผลดีต่อคุณภาพของไข่ และลดปัญหามีลูกยากจากไข่ไม่ตกด้วย (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอาหารกระตุ้นวัยเจริญพันธุ์)

อย่างไรก็ตามมีอาหารบางประเภทที่อาจส่งผลในทางลบ ในคนที่วางแผนจะตั้งครรภ์ โดยอาจส่งผลให้ลบต่อโอกาสตั้งครรภ์ รวมถึงอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ อาหารเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อการตั้งครรภ์ที่จะเกิดขึ้น หากบริโภคในปริมาณน้อย ยังไงก็ตาม กินให้น้อยเข้าไว้ หรือ หลีกเลี่ยงไปเลยก็จะเกิดประโยชน์มากกว่าค่ะ อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ


1. ไขมันทรานส์ (Trans Fat)


ไขมันทรานส์ เป็นกรดไขมันอีกชนิดที่พบได้ในอาหารที่เรารับประทานเป็นประจำ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไขมันทรานส์ธรรมชาติ (natural trans fat) และ ไขมันทรานส์สังเคราะห์ (artificial trans fat) ส่วนใหญ่เราจะได้รับไขมันทรานส์จากการสังเคราะห์ ในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อยืดอายุอาหารจำพวกของทอด เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด แฮมเบอร์เกอร์ หรือขนมอบกรอบ นอกจากนี้ยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของเนยขาว และมาร์การีน เช่น คุ้กกี้ พาย พัฟ หรือขนมขบเคี้ยวชนิดแท่งด้วย

ไขมันทรานซ์ ทำให้เกิดการอักเสบของร่างกาย เพิ่มภาวะ ดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) ทำให้เกิดปัญหาต่อเส้นเลือด ส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงระบบสืบพันธ์ของร่างกาย ทำให้ไข่ตกไม่ปกติ นอกจากนี้ ยังทำให้ปริมาณและคุณภาพของสเปิร์มในเพศชายแย่ลงอีกด้วย (2) อ่านเพิ่มเติมเรื่องอาหารกลุ่มไขมัน


2. ของหวานที่มี Glycemic index สูง (High-glycemic-index foods)


ถ้าคุณกำลังวางแผนอยากมีลูก ควรหลีกเลี่ยงอาหาร ที่ทำให้ระดับน้ำตาลสูงขึ้นทันที หรือกลุ่ม Glycemic index สูง เนื่องจาก ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย รบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศ ทำให้ไข่ไม่ตก เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหา PCOS หรือ ถุงน้ำรังไข่หลายใบ อาหารที่มีน้ำตาลสูงจะยิ่งทำให้อาการของ PCOS แย่ลง ให้เลือกกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมได้ช้า เช่น whole grain หรือ ข้าวกล้อง เพื่อให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ติดตามอ่านบทความเรื่อง อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต


3. เครื่องดื่มน้ำอัดลม หรือ โซดา


เครื่องดื่มน้ำอัดลมไม่ว่าเป็นรสปกติ หรือไม่มีน้ำตาล หรือแม้กระทั่งโซดา ส่งผลในทางลบต่อระบบสืบพันธ์ (3) เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้ทำให้น้ำตาลสูงขึ้น (blood-sugar-spiking) ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศ ทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินแย่ลง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการทำงานของแบคทีเรียในลำไส้ ทำให้ส่งผลแง่ลบต่อสุขภาพ การดื่มน้ำอัดลมหรือโซดายังอาจทำให้รับได้รับสาร BPA จากผลิตภัณฑ์ที่บรรจุมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ของทั้งหญิงและชาย


4. อาหารที่อาจปนเปื้อนสารปรอท (High-mercury fish)


ในน้ำทะเลจะมีสารปรอทปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ปลาตัวเล็กๆจะเริ่มสะสมสารปรอท (Mercury) ในตัวปลา ยิ่งปลาที่มีขนาดใหญ่ หรืออยู่ปลายห่วงโซ่อาหารมากแค่ไหน ก็ยิ่งมีโอกาสมีสารปรอทสะสมมากขึ้น ปลาที่มีความเสี่ยงที่จะมีสารปรอทสะสมมากเช่น ปลาฉลาม (Shark), ปลากระโทงดาบ (Swordfish), ปลาอินทรี (King Mackerel), ปลาไทล์ (Tilefish) สารปรอททำอันตราายโดยตรงต่อระบบประสาทซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาทของทารก ทั้งยังส่งผลต่อระบบสืบพันธ์ทั้งหญิงและชาย ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ และการสร้างสเปิร์มผิดปกติได้ (4) การทานอาหารที่มีสารปรอทตั้งแต่ช่วงก่อนท้องทำให้อาจมีสารปรอทสะสมในร่างกาย และอาจส่งผลต่อการสร้างระบบประสาทของทารกตั้งช่วงเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ได้


5. แอลกอร์ฮอร์ (Alcohol)


มีคำแนะนำจาก CDC ว่า ในคนที่วางแผนจะมีลูกควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอร์ เนื่องจากอาจส่งผลเสียไปถึงทารกในครรภ์ รวมถึงอาจส่งผลต่อการมีลูกได้ (5) แต่หากยังไม่ตั้งครรภ์ แล้วต้องการดื่มแอลกอฮอร์ ไม่ควรดื่มเกิด 3 drink ต่อสัปดาห์ (อ่านเนื้อหาเรื่องแอลกอร์ฮอร์กับการตั้งครรภ์)


6. ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง


ในถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่งเหลือง เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลือง มีสารที่ชือว่า phytoestrogens (mimic estrogen) ซึ่งคือสารที่ทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ถ้าบริโภคเป็นจำนวนมาก จากส่งผลทำให้การทำงานของฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติของเราผิดปกติไป ไปรบกวนการทำงานของเอสโตรเจน อาจทำให้ไข่ไม่ตก หรือการฝังตัวของตัวอ่อนผิดปกติได้ (6) ตังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง หรือทานแต่ปริมาณน้อยในช่วงที่วางแผนตั้งครรภ์ค่ะ


การเลือกทานอาหารมีส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์ของเราได้ อย่างไรก็ตามไม่ต้องเครียดมากนะคะ ถ้าเราเลือกทานอาหารที่หลากหลาย เลือกทานแต่พอดี เลือกอาหารที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย เพียงเท่านี้ ร่างกายของเราจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และเหมาะสมที่จะเป็นบ้านให้ทารกน้อยในครรภ์ไปอีก 9 เดือนค่ะ







Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#drnoithefamily #อาหารที่ควรเลี่ยงหากต้องการท้อง #ความรู้เกี่ยวกับอาหาร #เตรียมตัวก่อนท้อง #เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ #อยากมีลูก #เทคนิคมีลูกง่าย #เตรียมตัวก่อนมีลูก



Comments


bottom of page