top of page

ภาวะมีบุตรยากในชาย เกิดจากอะไรได้บ้าง? (Male infertility)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

แม้ว่าหลายคู่ที่มีปัญหามีบุตรยาก จะให้ความสนใจในส่วนของฝ่ายหญิง แต่เชื่อหรือไม่คะว่า ปัญหามีบุตรยาก สาเหตุอาจมาจากฝ่ายชายสูงถึง 20-50% และที่สำคัญ แม้ว่าคุณผู้ชายที่เคยมีลูกมาก่อนแล้ว ก็สามารถพบปัญหามีบุตรยากในภายหลังได้เช่นกัน วันนี้เราจะไปเรียนรู้สาเหตุของภาวะมีบุตรยากในชาย และการดูแลรักษาภาวะนี้ ในกรณีที่ต้องการมีลูกค่ะ



ภาวะมีบุตรยากในชายคืออะไร (What is male infertility?)


ภาวะมีบุตรยากในชาย คือ ภาวะที่ชายคนนั้น ไม่สามารถทำให้ฝ่ายหญิงซึ่งปกติมีบุตรได้สำเร็จ หรือ คุณภาพของสเปิร์มต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการตรวจน้ำอสุจิ) งานวิจัยพบว่า สาเหตุมีบุตรยากจากฝ่ายชายพบได้สูงถึง 20-50% โดยสาเหตุที่พบมากที่สุดคือ คุณภาพของสเปิร์มผิดปกติ


ภาวะมีบุตรยากในชาย มักจะค่อนข้างถูกมองข้ามได้ง่าย จากการที่ไปในความสนใจ ภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิง และมักถูกละเลยในการหาสาเหตุและแก้ไขให้ตรงจุด แต่หากเราพอทราบสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในชายคร่าวๆ ก็อาจจะช่วยให้ง่ายขึ้น ต่อการกลับมาสำรวจความผิดปกติของตัวเองได้


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย


1. สาเหตุจากการทำงานผิดปกติของต่อมใต้สมอง (Hypothalamic-pituitary factors)


ต่อมใต้สมองมีความสำคัญต่อการหลังฮอร์โมน FSH,LH และ Prolactin ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย การทำงานของต่อมใต้สมองที่ผิดปกติ อาจส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนเพศชายที่ผิดปกติได้ สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ Kallmann Syndrome, Hyperprolactinemia เป็นต้น การทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนเพศชาย อาจส่งผลให้เกิดภาวะนกเขาไม่ขัน ไม่มีอารมณ์ทางเพศได้


2. มีการอุดตันท่อนำอสุจิหรือความผิดปกติทางกายภาพ


หากมีความผิดปกติทางกายภาพ เช่น อัณฑะไม่ลงถุง เส้นเลือดขอด หรือ การอุดตันที่ท่อนำอสุจิ เป็นสาเหตุทำให้มีบุตรยากได้ จากการสร้างอสุจิปริมาณน้อย และไม่สามารถหลั่งอสุจิออกมาได้


3. สภาพสิ่งแวดล้อม


สภาพสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญ และอาจส่งผลต่อภาวะมีบุตรยากของฝ่ายชาย สภาพแวดล้อมที่ส่งผลในทางลบต่อการสร้างสเปิร์ม และคุณภาพของสเปิร์มคือ

  • สารเคมีต่างๆ

  • สาร BPA/ Phthalates

  • ยาฆ่าแมลงต่างๆ

  • รังสีต่างๆ

สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระ ส่งผลต่อการสร้างและคุณภาพของสเปิร์ม


4. Life style


การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ส่งผลต่อวัยเจริญพันธุ์ของฝ่ายชาย พฤติกรรมบางชนิด อาจส่งผลในทางลบต่อการเจริญพันธุ์ และก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ เช่น

  • การสูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่ส่งผลโดยตรงต่อ DNA ของสเปิร์ม โดยพบว่า คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะมีบุตรยาก มากกว่าคนที่ไม่ได้สูบถึง 60% ชายที่สูบบุหรี่มีโอกาสล้มเหลวในการทำ IVF เพิ่มขึ้น 34% และมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแท้งได้ประมาณ 30%

  • การใช้สารเสพติด

  • การทานอาหารที่ส่งผลต่อคุณภาพของสเปิร์ม เช่น อาหารกลุ่ม Trans fat

  • ความเครียด และการนอนหลับไม่เพียงพอ

  • ความร้อนบริเวณถุงอัณฑะ


5. การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์


การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ เช่น Syphilis, trichomoniasis, chlamydia, gonorrhea, herpes simplex, HPV โดยการติดเชื้อในบางครั้งอาจไม่มีอาการ ต้องตรวจทางห้องปฎิบัติการจึงจะสามารถตรวจเจอ


6. การสร้างสเปิร์มน้อย และสเปิร์มไม่คุณภาพ


การที่สเปิร์มไม่มีคุณภาพ หรือการสร้างน้อย มักพบเมื่อได้รับการตรวจ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ มักจะไม่มีสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด โดยปริมาณ และคุณภาพของสเปิร์ม มักจะ reflex ความผิดปกติด้านอื่นๆ ที่อาจต้องหาเพิ่มเติม เช่น การทำงานของฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติ ความผิดปกติของการสร้างหรือการเดินทางของน้ำอสุจิ รวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือ life style ที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติได้


7. การได้รับยาเคมีบำบัด


ยาเคมีบำบัดบางชนิดส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในชาย เช่น Cyclophosphamide, Cisplatin, Procarbazine, ifosfamide รวมถึงยาบางชนิดก็อาจส่งผลในทางลบ เช่น Bleomycin, methorexate, 5-fluorucil เป็นต้น


8. การติดเชื้อ


การติดเชื้อบางอย่าง ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากในชายได้ เช่น การติดเชื้อคางทูม การติดเชื้อที่ถุงอัณฑะ การติดเชื้อที่ทางเดินท่ออสุจิ หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ


9. โรคประจำตัวอื่นๆ


โรคประจำตัวบางชนิด อาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่น โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์ โรคตับเป็นต้น


การตรวจวินิจฉัย


การหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากให้ชาย มักจะเริ่มต้น ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการส่งตรวจน้ำอสุจิ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการตรวจน้ำอสุจิ) รวมถึงอาจต้องมีการตรวจเลือด หรือส่งตรวจทางรัวสีวินิจฉัยอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย


การป้องกันภาวะมีบุตรยากในชาย


  • หลีกเลี่ยงการสูบุหรี่ และการใช้สารเสพติด

  • การหลีกเลี่ยงความร้อนบริเวณถุงอัณฑะ เช่น การลดการเข้าสตรีม ซาวด์น่า เป็นต้น

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เช่น นอนให้พอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด ลดการทานอาหารที่เป็นอัยตรายต่อสเปิร์ม

  • การป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรือหากติดเชื้อควรรีบทำงานรักษา

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส สารเคมีต่างๆ เช่น BPA, Phthalates, ยาฆ่าแมลง

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสรังสีต่างๆ

  • การเพิ่มอาหารหรือวิตามินบำรุงที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อไม่ให้อนุมูลอิสระทำร้ายตัวสเปิร์มเอง


การรักษา


การรักษาภาวะมีบุตรยากในชาย ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรง

  • หากมีการติดเชื้อ ควรรักษาการติดเชื้อนั้นๆ

  • กรณีมีการอุดตันของท่อทางเดินอสุจิ อาจทำการรักษาโดยการผ่าตัด หรือ ทำ IVF หรือ ICSI

  • คุณภาพของสเปิร์มไม่ดี อาจใช้วิตามินกลุ่มต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidants เพื่อเพิ่มคุณภาพให้แก่สเปิร์ม

  • หากมีความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ อาจทำการรักษาด้วยฮอร์โมน


สุดท้ายแล้ว กรณีที่คุณภาพของสเปิร์มมีปัญหามากๆ ไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย หรือมีความผิดปกติทางกายภาพ การพิจารณาการใช้เทคโนโลยี เช่น IUI, IVF หรือ ICSI อาจเป็นตัวช่วยที่สำคัญ ที่จะเพิ่มโอกาสให้มีลูกได้สำเร็จได้


หวังว่า ข้อมูลที่หมอเขียนในวันนี้ คงเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ไม่มากก็น้อย แล้วมาติดตามบทความดีๆ กันได้ใหม่ในครั้งหน้าค่ะ


วิตามินบำรุง : https://www.drnoithefamily.com/products





Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


ที่มา


#ภาวะมีบุตรยากในชาย #อยากมีลูก #เทคนิคมีลูกง่าย #รักษาภาวะมีบุตรยาก


Comentários


bottom of page